นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แถลงผลประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน ได้รับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในวันที่ 7 ม.ค.65 โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
1.ความสำเร็จอีอีซี 4 โครงสร้างพื้นฐานเดินหน้า ใช้เงินไทย ใช้คนไทย ใช้บริษัทไทย รัฐได้ผลตอบแทน 2 แสนล้านบาท
ที่ประชุม กบอ.รับทราบการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP) ที่อีอีซีได้ผลักดันการเซ็นสัญญาครบทั้ง 4 โครงการ (รถไฟความเร็วสูงฯ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด และแหลมฉบัง) มูลค่าลงทุนรวมสูงถึง 654,921 ล้านบาท ลงทุนภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท (64%) ลงทุนภาครัฐ 238,841 ล้านบาท (36%) โดยภาคเอกชนจะให้ผลตอบแทนภาครัฐ 440,193 ล้านบาท และรัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ 210,352 ล้านบาท ถือเป็นประวัติศาสตร์ความสำเร็จครั้งสำคัญของประเทศและอีอีซีที่ได้ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชนคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต
"ความสำเร็จนี้ สะท้อนให้เห็นถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ ถึงการสร้างนวัตกรรม เพื่อการลงทุนของประเทศภายใต้หลักคิด ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การพึ่งพาตนเอง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องพึ่งพิงเงินกู้ต่างประเทศเช่นในอดีต รัฐได้ประหยัดงบประมาณโดยร่วมมือกับเอกชนไทย ใช้เงินไทยและบริษัทไทยที่แข็งแกร่งเป็นแกนหลักนำพันธมิตรต่างชาติมาร่วมลงทุน สร้างงานให้คนไทย สร้างผลตอบแทนภาครัฐ รวมทั้งเผชิญความเสี่ยงกับรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยกำลัง ก้าวสู่การสร้างอนาคตใหม่ร่วมกันทั้งประเทศ รัฐ-เอกชน และประชาชน ให้แก่คนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน" นายคณิศ กล่าว
2.EECi ก้าวหน้าครบมิติ เตรียมเปิดทางการรับประชุมผู้นำเอเปก ประกาศความพร้อมดึงนักลงทุนทั่วโลก
ที่ประชุม กบอ. รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่การดำเนินงานเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ได้ประสบผลสำเร็จต่อเนื่อง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม สนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 พัฒนาเกษตรสมัยใหม่ กลุ่ม SMEs และความพร้อมพัฒนาบุคลากรด้านงานวิจัยเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย
โดยภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ เมืองนวัตกรรมชีวภาพ เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ เมืองนวัตกรรมอาหาร รวมทั้งการก่อสร้างกลุ่มอาคาร โรงงานต้นแบบนวัตกรรมขั้นสูงต่างๆ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของ EECi ใกล้เสร็จสมบูรณ์ และคาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2565 เพื่อสนับสนุนการจัดประชุมผู้นำเอเปกที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะเป็นการประกาศความพร้อมสนับสนุนการดึงดูดการลงทุนฐานนวัตกรรมขั้นสูง และจูงใจนักลงทุนทั่วโลกเข้าสู่พื้นที่อีอีซี
3. ศูนย์จีโนมิกส์ เสริมแกร่งยกระดับสาธารณสุข คนไทยเข้าถึงรักษาโรคแม่นยำ หายป่วยง่าย สุขภาพดีทั่วหน้า
ที่ประชุม กบอ. รับทราบความก้าวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบการแพทย์จีโนมิกส์ ในพื้นที่อีอีซี ยกระดับให้ชุมชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข และแผนการขับเคลื่อนการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ โดยเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ศูนย์บริการจีโนมิกส์ในอีอีซี และบริการที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบัน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ได้ลงนามในสัญญาจ้าง และสัญญาเช่าที่บริการถอดรหัสพันธุกรรม กับกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมประชาชน 50,000 ราย ในระยะเวลา 5 ปี และจัดเก็บเป็นข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและเลือกการรักษาโรคที่ถูกต้อง เป็นต้นแบบในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รักษาได้ตรงอาการไม่ป่วยหนัก และมีสุขภาพดีทั่วหน้าต่อไปในอนาคต
4. เดินหน้าเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีต่อเนื่อง ไทยก้าวสู่ประตูการค้า ศูนย์กลางลงทุนแห่งภูมิภาค
ที่ประชุม กบอ. พิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566 - 2570 ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายให้ไทยก้าวสู่ประตูการค้า การลงทุน ศูนย์กลางคมนาคมโลจิสติกส์ของภูมิภาค เน้นสร้างความร่วมมือกลุ่มประเทศ CLMVT และจีนตอนใต้ รวมทั้งรองรับการเติบโตของอีอีซีในอนาคต เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางราง ทางน้ำ เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะระบบรางจากสถานีรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภาฯ เชื่อมกับเมืองใหม่ และแหล่งท่องเที่ยว เพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชนในการเดินทาง เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็ง
โดยมีกรอบการพัฒนาต่อเนื่อง ได้แก่ 1) พัฒนาและส่งเสริมการขนส่งสินค้าระบบรางและทางน้ำเป็นระบบหลัก 2) ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 3) เชื่อมต่อโครงข่ายถนน ปรับปรุงช่วงถนนคอขวด แก้ปัญหาจราจรหลักในอีอีซี 4) พัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ นิคมอุตสาหกรรม เมืองที่จะพัฒนาในอนาคต และ 5)ใช้เทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะจัดการจราจรและการขนส่ง ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ เพิ่มขีดความสามารถระบบรางและทางน้ำ เชื่อมต่อการขนส่งรูปแบบอื่น เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ยกระดับโครงข่ายคมนาคมรองรับการเดินทางประชาชนอย่างไร้รอยต่อ เพิ่มสัดส่วนการเดินทางระบบสาธารณะส่งเสริมท่องเที่ยวทางรางและทางน้ำเข้าถึงพื้นที่หลักในอีอีซี และยกระดับโครงข่ายคมนาคมด้วยมาตรการเชิงรุกและเทคโนโลยีสมัยใหม่
โดยระหว่าง ปี 2566 - 2570 ช่วงการก่อสร้างจะเกิดการจ้างงานประมาณ 20,000 ตำแหน่ง/ปี และปี 2571 - 2580 ประมาณ 12,000 ตำแหน่ง/ปี เดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น ลดความสูญเสียจากความล่าช้าการเดินทางประมาณ 10.75 ล้านบาท/วัน หรือ 3,900 ล้าน/ปี ลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ 5% (ความสูญเสียลดลง 100 ล้านบาท/ปี) ยกระดับชีวิตด้วยระบบขนส่งที่ทันสมัย เชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ เดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงระยอง ภายใน 1 ชั่วโมง ลดมลภาวะในสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการจราจร เพิ่มประสิทธิภาพถนนในพื้นที่ จากความเร็ว 65 กม./ชม. เป็น 70 กม./ชม. มีเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้น 275 กม. ปรับปรุงการก่อสร้างถนนและขยายช่องทางมากถึง 25 เส้นทางภายในปี 2570
"เป็นแผนฯ ฉบับที่สอง โดยให้ความสำคัญเชิงคุณภาพมากขึ้นในเรื่องการขนส่งทางราง และทางน้ำ" นายคณิศ กล่าว
ทั้งนี้ มีการประเมินการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้าว่ามีมีมูลค่า 2 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเดิม เช่น รถ EV ศูนย์จีโนม และจะหาการลงทุนใหม่เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ราวปีละ 1.5%