นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ผลการจดทะเบียนธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน 64 ว่า
*ยอดจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่
- ผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ 5,642 ราย เพิ่มขึ้น 26% จากเดือนพฤศจิกายน 63 ซึ่งอยู่ที่ 4,479 ราย และเพิ่มขึ้น 2% จากเดือนตุลาคม 63 ซึ่งอยู่ที่ 5,555 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 16,983 ล้านบาท
- ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 566 ราย คิดเป็น 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 287 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 195 ราย คิดเป็น 3%
*ยอดจดทะเบียนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ
- มีจำนวน 2,892 ราย เพิ่มขึ้น 18% จากเดือนพฤศจิกายน 63 ซึ่งอยู่ที่ 2,457 ราย และเพิ่มขึ้น 46%จากเดือนตุลาคม 64 ซึ่งอยู่ที่ 1,976 ราย โดยมีมูลค่า ทุนจดทะเบียนจำนวน 109,271 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
- ประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 204 ราย คิดเป็น 7% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 148 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 77 ราย คิดเป็น 3%
ทั้งนี้ ส่งผลให้ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 64 มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศทั้งสิ้น 811,224 ราย มูลค่าทุน 19.23 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 197,245 ราย คิดเป็น 24.31% บริษัทจำกัด จำนวน 612,664 ราย คิดเป็น 75.53% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,315 ราย คิดเป็น 0.16%
รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า หากพิจารณาการเติบโตของจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะพบว่ากลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเติบโต ได้แก่ ธุรกิจรับส่งเอกสาร/สิ่งของ เพิ่มขึ้น 62 ราย คิดเป็น 6.9 เท่า และขายปลีกทางอินเตอร์เน็ต เพิ่มขึ้น 55 ราย คิดเป็น 94.83%
"ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ โตถึง 94% สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น" นางโสรดา กล่าว
อย่างไรก็ตาม นโยบายการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 4/64 ผู้ประกอบธุรกิจจึงควรติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังกล่าวถึงการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 68 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 24 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 44 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,002 ล้านบาท
โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 15 ราย เงินลงทุน 3,516 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 13 ราย เงินลงทุน 497 ล้านบาท และสิงคโปร์ จำนวน 10 ราย เงินลงทุน 1,183 ล้านบาท