นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการฯ เดือน พ.ย.64 ว่า ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 68 ราย เพิ่มขึ้น 19% จากเดือน ต.ค. 64 (57 ราย) โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็นใ บอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 24 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 44 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,002 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 720 คน
ทั้งนี้ ล่าสุด คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 24 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 727 ล้านบาท และหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 44 ราย เงินลงทุน 6,275 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 720 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญ หรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการอัดฉีดซีเมนต์ขั้นสูง และความซับซ้อนของท่อซีเมนต์ในหลุมแท่นขุดเจาะน้ำมัน องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคและการปรับใช้เครื่องอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อการใช้งานร่วมกับเครื่องอัดประจุไฟฟ้า และองค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ การจัดเก็บ และการเปรียบเทียบวิเคราะห์ เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขคุณภาพชิ้นงานแม่พิมพ์แบบสามมิติ เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในเดือน พ.ย. 64 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป รองลงมาเป็นธุรกิจการให้บริการแก่บริษัทในเครือในกลุ่ม ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน และธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งสินค้าอุตสาหกรรม ตามลำดับ อาทิ
- บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
- บริการทำการตลาด และส่งเสริมการขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้า
- บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง ตรวจสอบ ดำเนินงาน ทดสอบ รวมถึงการให้บริการบำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบกักเก็บพลังงานสำหรับโรงไฟฟ้า
- การค้าปลีก/ค้าส่งสินค้าอุตสาหกรรม ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ผลิตโดยบริษัทในเครือในต่างประเทศ เป็นต้น
ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนพ.ย. 64 นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ลงทุนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 44 ราย ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติยังคงสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 11 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 16% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดในเดือนนี้ และมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 538 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 8% ของเงินลงทุนทั้งหมด
โดย 3 ลำดับแรกเป็นนักลงทุนจาก สิงคโปร์ 3 ราย ลงทุน 145 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 2 ราย ลงทุน 103 ล้านบาท และญี่ปุ่น 2 ราย ลงทุน 63 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ และบริการรับจ้างคัดแยกคุณภาพเพชร ให้แก่ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอัญมณีในต่างประเทศ เป็นต้น
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ในเดือน ม.ค.-พ.ย. 64 นักลงทุนต่างชาติได้รับอนุญาต 500 ราย เงินลงทุน 64,582 ล้านบาท ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ
- ธุรกิจบริการเป็นที่ปรึกษา บริหารจัดการ และให้บริการเดินรถและซ่อมแซมบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในประเทศไทย
- ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม วางระบบและทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโครงการศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ
- ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านประกันภัย
- บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC) ให้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศ
- บริการให้ใช้สิทธิและให้ใช้ช่วงสิทธิในซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับกระบวนการทางการแพทย์
- บริการติดตั้ง ซ่อมแซมและบำรุงรักษาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้แก่ เจ้าของอาคาร บ้านหรือที่พักอาศัยที่ใช้สินค้าที่บริษัทจำหน่าย
- บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น