นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย.64 อยู่ที่ระดับ 101.38 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และปรับตัวดีขึ้นจากเดือน ต.ค.ที่ 3.0% ส่งผลให้ช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) ขยายตัวเฉลี่ย 5.84%
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน พ.ย.64 อยู่ที่ 65.81% เพิ่มขึ้นจาก 64.14% ในเดือน ต.ค.64 ส่งผลให้ CapU ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 63.50%
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือน พ.ย.64 ได้แก่
- สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการในภาพรวมทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือน พ.ย.64 ที่ขยายตัว 1.1% โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
- ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียมขยายตัวในระดับสองหลัก
- สินค้าที่เกี่ยวข้องช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสินค้าที่สามารถใช้เป็นของขวัญของฝากหลายกลุ่มมีการขยายตัวได้ดี เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ
- การส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก เนื่องจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือน พ.ย.64 ขยายตัว 23.13% มูลค่า 18,787.30 ล้านดอลลาร์ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัว 20.82% มูลค่า 18,147.70 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ด้านการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 11.03% ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 39.30" ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
"ดูตัวเลขการส่งออกและนำเข้าแล้วคาดว่าทิศทางเดือนหน้าจะดีกว่านี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด" นายทองชัย กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือน พ.ย.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
- น้ำมันปิโตรเลียม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.88% จากกลุ่มน้ำมันดีเซล และน้ำมันเครื่องบินเป็นหลัก เป็นผลจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหลังประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้มีการเดินทางขนส่งและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติได้มากกว่าปีก่อน
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.16% ตามความต้องการในตลาดโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 โดย WSTS (World Semiconductor Trade Statistics) คาดการณ์ยอดขายทั่วโลกปี 2564 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25.60% และในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอีก 8.80% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี
- เม็ดพลาสติก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.00% จากกลุ่ม Polyethylene resin, Polypropylene resin, Ethylene, Propylene และ Benzene เป็นหลัก เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงต่อเนื่อง รวมถึงการทำ Turn Around ของผู้ผลิตบางรายในปีก่อน
- น้ำมันปาล์ม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 55.92% จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีมากกว่าปีก่อน เนื่องจากต้นปาล์มมีความสมบูรณ์เต็มที่ โดยปีก่อนแหล่งเพาะปลูกภาคใต้ประสบปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียและมาเลเซียขาดแคลนแรงงานในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ปริมาณน้ำมันปาล์มในตลาดโลกลดลงและมีราคาสูงขึ้น
- เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ปรับตัวเพิ่มขึ้น 24.88% ตามความต้องการใช้ในโรงพยาบาลจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมยายังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงต้องปฏิบัติตามนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และต้องรายงานต่อ อย.ทุก 15 วัน
ส่วนปัจจัยที่คาดว่าส่งผลต่อการผลิตในเดือน ธ.ค.64 ได้แก่
- สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่คลี่คลายจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดมากขึ้นในช่วงปลายปี รวมถึงการเปิดประเทศตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นมา ส่งผลให้ประชาชนกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนเป็นปกติมากขึ้น
- เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตได้ แม้หลายประเทศเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาด แต่ยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจได้อยู่ ทำให้ภาคการผลิตในหลายประเทศยังคงเดินหน้าต่อ และเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
- การระบาดระลอกใหม่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากมีความรุนแรงเช่นเดียวกับระลอกก่อน อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัวอาจเกิดการชะงักงันได้ ส่งผลต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม หากเกิดคลัสเตอร์การระบาดในสถานประกอบการ โดยเฉพาะในโรงงานที่มีความอ่อนไหวต่อการลดลงของแรงงาน เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น