(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุเศรษฐกิจ พ.ย.ดีขึ้นตามการส่งออก-ปัญหา supply disruption คลี่คลายลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 30, 2021 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย.64 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และปัญหา supply disruption ที่ทยอยคลี่คลายลง สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ด้านการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผ่านรายจ่ายเงินโอน ทั้งนี้ อุปสงค์ที่ฟื้นตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับดีขึ้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. ระบุว่า ในเดือนพ.ย.นี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ประกอบกับภาคการผลิตกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้มีการเร่งส่งออกตามคำสั่งซื้อที่คงค้างอยู่ในช่วงก่อนหน้า

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยอยู่ที่ 9.1 หมื่นคน จากเดือนต.ค.ที่ 2 หมื่นคน หลังภาครัฐเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ 1 พ.ย.64 อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมยังไม่มาก เนื่องจากหลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่

ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หลังสถานการณ์การระบาดในประเทศและการฉีดวัคซีนปรับดีขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการภาครัฐในรูปแบบเงินโอนยังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนทั้งด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ทยอยฟื้นตัว

การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2564 ประกาศใช้ อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายภาครัฐในเดือนนี้ ยังทำได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 60-62

ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว ประกอบกับปัญหา supply disruption อาทิ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และปัญหาการขนส่งสินค้าคลี่คลายลงบ้าง มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนตามการนำเข้าเชื้อเพลิง รวมทั้งสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ลดลง อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และการนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่รวมเชื้อเพลิง ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิตที่ทยอยฟื้นตัว

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระปรับดีขึ้น

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อยที่ 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือน ต.ค.ที่ขาดดุล 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

"เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ช่วงต้นเดือนพ.ย.แข็งค่าขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่ในช่วงปลายเดือนเงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างเร็ว จากความกังวลต่อสถานการณ์โอมิครอน ที่คนมองว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะเราพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ" น.ส.ชญาวดี กล่าว

ส่วนความกังวลต่อสถานการณ์โอมิครอนในเดือน ธ.ค. ที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทล่าสุดถึงวันที่ 23 ธ.ค. อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งจากเหตุผลที่ธนาคารกลางของประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ส่งสัญญาณว่าจะทำนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น หลังจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงและยาวนานกว่าที่คาด รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ยังฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ