นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานในระยะข้างหน้าว่า จะต้องถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่ผ่านมา พร้อมกับการวางแผนและเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เป็น "มาตรการเร่งด่วน" เพื่อ "หยุดการลุกลาม" ฟื้นฟูและช่วยเหลือบริษัทเป้าหมายที่อาจประสบปัญหา ควบคู่กับการเร่งกอบกู้ศรัทธาและความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาสู่ธุรกิจประกันภัย พร้อมทั้งต้องเสริมสร้างความทนทานยืดหยุ่นและเสถียรภาพของระบบประกันภัยโดยรวมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลให้ "เท่าทัน" การส่งเสริมการสู่ "Digital Insurance" การสร้าง "Inclusion และ Awareness" รวมถึงการมุ่งสู่ "SMART OIC" เพื่อเอื้ออำนวยให้ธุรกิจประกันภัยสามารถพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบด้วย 5 มิติหลัก ดังนี้
มิติที่ 1 การเสริมสร้างความทนทานยืดหยุ่นและเสถียรภาพของระบบประกันภัย ซึ่งถือเป็นมาตรการเร่งด่วนในระยะสั้นที่ต้องรีบดำเนินการ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ด้วยการเพิ่มมาตรการช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งปรับกระบวนการกำกับดูแลธุรกิจให้สะท้อนความเสี่ยง เน้นการทำงานแบบ proactive และ forward looking มากขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. จะประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน ทั้งโอกาสและแนวโน้มต่าง ๆ เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการรับกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีและตรงจุด ควบคู่กับการกำหนดมาตรการและแนวทางในการ "ฟื้นฟู" และ "สร้างความเข้มแข็ง" ให้กับธุรกิจ ขั้นตอนต่อไป ต้องติดตามและเฝ้าระวัง Systemic risk และความเสี่ยงทั้งในระบบประกันภัยและระบบการเงิน โดยการทำ Stress Test ด้วยพารามิเตอร์ที่เหมาะสม สะท้อนความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน เพื่อการสื่อสารที่มุ่งเน้นเรื่อง Incidental communication การให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย สร้างความเชื่อมั่นและเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
มิติที่ 2 การปรับปรุงกฎเกณฑ์และมาตรการให้เท่าทันบริบทที่เปลี่ยนแปลงและปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ โดยการปรับกรอบการกำกับดูแล พัฒนาฐานข้อมูล และเครื่องมือใหม่ รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจ ซึ่งในปี 2565 จะเน้นการพัฒนาเครื่องมือการกำกับดูแล และต่อยอดระบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ ติดตาม และประเมินฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยได้ดียิ่งขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการนำ Data analysis มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนี้ การกำกับดูแลและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัย จะต้องปรับโดยคำนึงถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงของบริษัท และความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์มากขึ้น รวมถึงการนำ AI มาช่วยในกระบวนการให้ความเห็นชอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ควบคู่กับการเพิ่มบทบาทของคณะกรรมการ product governance ของบริษัท และสำนักงาน คปภ. กำลังจะจัดให้มีโครงการ Product Sandbox เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ แนวคิดใหม่ เพิ่มเติมจากโครงการ Insurance Regulatory Sandbox
นอกจากนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จะมุ่งเน้น Customer-centric ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภท tailor-made ผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่จำเป็น และผลิตภัณฑ์เฉพาะแบบ Localized products การปรับปรุงกฎหมายแม่บทต่าง ๆ และการเพิ่ม efficiency ในระบบประกันภัย ซึ่งในระยะถัดไปจะดำเนินการอีก 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรก การป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย โดยต่อยอดระบบและเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้สามารถติดตาม และตรวจจับโอกาสการฉ้อฉลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่วนที่สอง แนวทางการลดต้นทุนในธุรกิจประกันภัย โดยกำหนดแนวทางลด regulatory cost และการศึกษารูปแบบ Shared service model เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนของธุรกิจประกันภัย
มิติที่ 3 การส่งเสริม Digital Insurance System ในการ transform ธุรกิจประกันภัย โดยสำนักงาน คปภ. จะเป็น Facilitator สนับสนุนให้ธุรกิจและผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้บริการ เข้าถึงและพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่ตรงความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น พร้อมกับนำมาใช้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ end-to-end process เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมุ่งเน้นใน 3 ส่วน คือ ส่วนแรก การปรับปรุงหลักเกณฑ์และนโยบายต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อการสร้าง ecosystem ที่เหมาะสม เกิดการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ model ธุรกิจใหม่ ๆ และแนวทางการเปิดรับผู้เล่นรายใหม่ ส่วนที่สอง การพัฒนาฐานข้อมูลและ Platform รวมถึงผลักดันการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล อาทิ ระบบ IBS ระบบข้อมูลประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ และต่อยอดการพัฒนาระบบ OIC gateway เพื่อสามารถให้บริการแก่ภาคธุรกิจ และประชาชนได้มากขึ้น รวมถึงการส่งเสริม InsurTech ให้มีบทบาทในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยได้มากขึ้น และส่วนที่สาม การเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของธุรกิจประกันภัย โดยการต่อยอดจากเสริมสร้าง Cybersecurity สู่ cyber resilience และควบคู่กับการพัฒนาบุคลากร ซึ่งในปี 2565 การ onsite-inspection บริษัทประกันภัยจะขยายขอบเขตไปสู่การประเมินบริษัทในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน Cybersecurity และ IT risk
มิติที่ 4 การปรับเปลี่ยนแนวทางการเข้าถึงและสร้างความตระหนัก Insurance literacy ที่มุ่งเน้นประชาชนและภาคธุรกิจ และยกระดับมาตรฐานและบทบาทคนกลางประกันภัย รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง โดยจะปรับเปลี่ยนวิธีการ ช่องทาง และพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถถึงกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ทั้ง online และ on ground ตลอดจนทบทวน ปรับกรอบการกำกับดูและการกำหนดเงื่อนไขให้รองรับและเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ โดยในปี 2565 สำนักงาน คปภ. จะนำระบบ e-licensing มาใช้เป็นฐานข้อมูลของคนกลางประกันภัยอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเชื่อมโยงข้อมูลมากขึ้น นอกจากนี้ จะปรับปรุงให้กระบวนการของสำนักงานมีความรวดเร็ว ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้โดยสะดวก และ real time พร้อมกับถอดบทเรียนต่าง ๆ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดการเกิดข้อพิพาทให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย
มิติที่ 5 การพัฒนาองค์กรมุ่งสู่ SMART OIC ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างดำเนินงานตามแผน SMART OIC เพื่อการ transform องค์กรสู่ Digital regulators ในทุกมิติ ได้แก่ 1) ความรู้และทักษะด้านดิจิทัล รวมถึง Mindset ของบุคลากร 2) ข้อมูล ซึ่งเป็น resource สำคัญมากที่จะช่วยตัดสินใจด้านกลยุทธ์และขับเคลื่อนระบบประกันภัย 3) การพัฒนา platform หรือ tools เพื่อช่วยยกระดับและอำนวยความสะดวกในการทำงาน
นายสุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจประกันภัยไทยยังจะต้องเผชิญความท้าท้ายและปัจจัยความเสี่ยงจากภายนอกที่มีนัยยะต่อธุรกิจประกันภัยที่ต้องเฝ้าระวัง ติดตามอย่างใกล้ชิดและปรับตัวให้เท่าทันอีก 5 ปัจจัยหลัก คือ
1) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและคงที่ รวมถึงการหดตัวของเศรษฐกิจไทยและหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อผลประกอบการและกำลังซื้อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2) ปัจจัยด้านสังคม ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของไทยก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่ตื่นตัว รักษาสุขภาพ รวมถึงการใช้ internet และ social media ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในระยะถัดไป ความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่ม silver age และผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพจะเพิ่มขึ้นมาก อีกทั้งผู้บริโภคจะหันไปใช้ช่องทาง online ในการทำธุรกรรมและเลือกซื้อประกันภัย ส่งผลให้ต้องมีการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์จาก traditional products ไปสู่ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ และนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น
3) ปัจจัยด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจประกันภัยมากที่สุดอีกปัจจัยหนึ่ง เพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในอนาคต บริษัททุกแห่งต้องมีการปรับตัวและนำเทคโนโลยีมาใช้ อาทิ การประยุกต์ใช้ smart devices หรือ IoT ผนวกเข้ากับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และในระยะถัดไป บริษัทประกันภัยก็จะเริ่มใช้ AI และ Data analytics เข้ามาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง รับประกัน และพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทน
4) ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเสี่ยงใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงโรคระบาด เช่น โควิด-19 ภาวะโลกร้อน ฯลฯ โดยกระแส ESG ถือได้ว่ามาแรงมากและได้รับการผลักดันในระดับภาคการประกันภัย ภาคการเงิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเพื่อช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นและกอบกู้ภาพลักษณ์ให้กับธุรกิจประกันภัย
5) ปัจจัยด้านกฎหมาย ธุรกิจประกันภัยไทยอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง IFRS 17 ที่จะบังคับใช้ในปี 2567 ส่งผลต่อวิธีการวัดมูลค่าหนี้สิน และการรับรู้รายได้ทางบัญชี รวมถึงภาษีในธุรกิจประกันภัย ตลอดจน พ.ร.บ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะใช้จริงในปี 2565 ซึ่งธุรกิจประกันภัยมีความเกี่ยวโยงกับข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องการพิจารณารับประกันภัย การวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกค้าและการเสนอผลิตภัณฑ์ที่ในอนาคตจะเป็นรูปแบบ tailor made และ Data Governance มากขึ้น รวมทั้งต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายให้เหมาะสมและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งในด้านของความเสี่ยงอุบัติเหตุใหม่ การก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ภัยธรรมชาติ และระบบประกันสุขภาพที่เติบโตอย่างรวดเร็ว