นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีมีข้อมูลปรากฏบิดเบือนในสื่อสังคมออนไลน์ ถึงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงที่มีข้อติดขัดไม่สามารถเปิดให้บริการได้นั้นว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานเบตงได้มีการให้บริการเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคล ซึ่งได้มีการทำการบินมาอย่างต่อเนื่อง อยู่ระหว่างพัฒนาท่าอากาศยานให้สามารถรองรับการเดินทางทางอากาศของประชาชนได้อย่างเพียงพอ และครอบคลุมทุกความต้องการ รวมถึงเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมของประชาชนให้ทั่วถึง
ส่วนเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ได้มีสายการบินขออนุญาตทำการบินไว้ 2 เส้นทาง คือ 1.หาดใหญ่-เบตง-หาดใหญ่ และ 2.ดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง โดยกรมท่าอากาศยาน ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ วิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพและทางเศรษฐศาสตร์ และข้อสรุปในการก่อสร้างที่วางไว้คือ ทางวิ่ง (Runway) ขนาด 30x 1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72/Q-400) ซึ่งตามหลักการดำเนินงานท่าอากาศยานจะมีการติดตามตัวเลขผู้โดยสารและเที่ยวบิน เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานต่างๆ โดยจะต้องมีระยะของการพัฒนาตามขนาดและความต้องการเดินทางของประชาชน สำหรับเส้นทางบินและการขึ้นลงของอากาศยาน จะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การก่อตั้งท่าอากาศยานเบตงนั้น สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายการพัฒนา 14 จังหวัดภาคใต้ และ จังหวัดยะลาอยู่ในกลุ่มภาคใต้ตอนล่างมีอำเภอเบตงเป็นอำเภอ ที่สำคัญมีความเจริญด้านเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากพื้นที่อำเภอเบตง มีสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงชัน ถนนแคบและคดเคี้ยว ไม่สะดวกต่อการเดินทาง ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาด้านการคมนาคม เข้าสู่อำเภอเบตง ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนา เศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้ง สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว และเชื่อมต่อ ประเทศมาเลเซียที่ด่านเบตงและพื้นที่ใกล้เคียงได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จังหวัดยะลามีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในพื้นที่อย่าง skywalk อัยเยอร์เวง บ่อน้ำร้อน อุโมงค์ปิยะมิตร สวนหมื่นบุปผา สวนไม้ดอกเมืองหนาว อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ อุโมงค์รถยนต์ ทุกแห่งได้เตรียมความพร้อม ปรับภูมิทัศน์ พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ภายใต้มาตรการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป