ผู้เลี้ยงหมู มองห้ามส่งออกเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แนะรัฐเคาะนำเข้า-จัดสินเชื่อช่วยแก้วิกฤติ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 6, 2022 10:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์ว่า กรณีที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตชั่วคราว 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.65 ถึง 5 เม.ย. 65 และให้ผู้เลี้ยงสุกรที่มีปริมาณการเลี้ยงเกิน 500 ตัว ผู้ค้าส่งที่มีปริมาณเกิน 500 ตัว ห้องเย็นที่มีการเก็บสต็อกเกิน 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องแจ้งสต็อกให้กรมการค้าภายในรับทราบ รวมทั้งแจ้งราคาในทุก 7 วันนั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้น ขณะที่ราคาขายหมูในประเทศมีราคาสูงอยู่แล้วจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งออก

"เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น เพราะตามปกติประเทศไทยส่งออกหมูไม่เกิน 5% และเป็นหมูปรุงสุกที่มีโรงงานได้มาตรฐาน EST ไม่เกิน 10 โรง ซึ่งเป็นรายใหญ่ที่มีเครือข่ายเลี้ยงหมูอยู่ในต่างประเทศ วันนี้จำเป็นต้องส่งออกไหม ผมมองว่าเมื่อราคาหมูในประเทศไทยขณะนี้ไม่จำเป็นต้องส่งออก โดยปกติก็ไม่ส่งออกอยู่แล้ว" นายนิพัฒน์ กล่าว

อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ตนเองเคยเสนอมาตรการที่จะประเมินสถานการณ์หมูในประเทศด้วยการทำอีสมาร์ทพาสที่กรมปศุสัตว์มีระบบอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้รู้จำนวนประชากรหมูในประเทศจะทำให้แก้ปัญหาได้ การเช็คสต็อกห้องเย็นก็แค่ให้รู้ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ แต่จะไปบังคับอะไรไม่ไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้ขาย นอกจากจะออกกฎหมายมาบังคับ

"วันนี้วิกฤตเกิดกับผู้เลี้ยง ต้องหาวิธีแก้ให้ผู้เลี้ยงกลับมาได้ แต่การรีบอร์นไม่ได้ง่าย ต้องมีวิธีการส่งเสริมต้องมีรูปแบบและวิธีการที่ชัดเจน ไม่งั้นแล้วเกิดปัญหาโรคระบาดซ้ำก็เป็นปัญหาอีก" นายนิพัฒน์ กล่าว

โดยหลักการอาจต้องมีการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศเพื่อแก้วิกฤต ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) ที่มี รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้เลี้ยงสุกรในประเทศ

ส่วนการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรในประเทศนั้นทางการควรจัดหาแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินของรัฐมาช่วยสนับสนุนเกษตรกร และการกลับมาเลี้ยงใหม่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เนื่องจากวงจรชีวิตของหมูจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 9 เดือน


แท็ก สุกร   กกร.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ