หอการค้าไทยเตรียมส่งยุทธศาสตร์ชาติให้พรรคการเมืองนำไปปรับเป็นนโยบาย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 8, 2007 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          หอการค้าไทยเตรียมส่งยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นนโยบายพรรค เนื่องจากเห็นว่านโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่นำเสนอต่อสาธารณชนเน้นนโยบายประชานิยมจนเกินจริง
"นโยบายประชานิยมเป็นสิ่งที่ดี หากพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายปฏิบัติตามได้จริง แต่ห่วงว่าในการหาเสียงแต่ละพรรคจะนำเสนอนโยบายที่ปฏิบัติไม่ได้จริงมากกว่า" นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว
ยุทธศาสตร์เร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ควรเร่งผลักดัน คือ การฟื้นความเชื่อมั่น เพราะขณะนี้ประชาชนไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจจนส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวลง และคาดว่า ปีหน้าการส่งออกมีแนวโน้มจะชะลอลงอีก การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ
"ปีหน้าน่าห่วง เพราะกว่าจะได้รัฐบาลมาทำงานได้ก็คงไตรมาสที่ 2 และคาดว่าจะเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งต้องทำงานอย่างหนัก ต้องเร่งกระตุ้นความเชื่อมั่น และเร่งลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็คต์" นายประมนต์ กล่าว
การที่เศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับ 4% ถือว่าน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านที่ขยายตัว 6-7% ดังนั้นเศรษฐกิจของไทยควรขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกันคือ 6% ซึ่งเป็นหน้าที่รัฐบาลใหม่จะต้องมีนโยบายและมาตรการกระตุ้นที่เหมาะสม
ด้านนายสวราช สัจจมาร์ค ประธานกรรมการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นการระดมสมองจากภาคเอกชนที่สะท้อนความเห็นว่าต้องการอะไร เป็นห่วงอะไร หากพรรคการเมืองใดสนใจและนำไปบรรจุเป็นนโยบายก็เชื่อว่าจะได้ใจจากภาคเอกชน เพราะเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องการเห็นว่าประเทศไทยควรจะเป็นไปในทิศทางใด
สำหรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะครอบคลุมเนื้อหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้เพิ่มขึ้น โดยมี 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ 1.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งเสริมการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ ส่งเสริมให้ตลาดภายในประเทศใหญ่ขึ้น ขยายการส่งออกไปตลาดใหม่ การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) สร้างมาตรฐานสินค้านำเข้า ป้องกันสินค้าไม่มีคุณภาพเข้าประเทศ
นอกจากนี้ ยังต้องรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับคู่แข่ง ส่งเสริมประสิทธิภาพของตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศ ลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายเงินทุนสำหรับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ปรับโครงสร้างกฎระเบียบและภาษีให้เอื้อต่อการลงทุน โดยไม่ควรขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมในภูมิภาค เป็นต้น
2.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เร่งรัดการลงทุนเมกะโปรเจ็คต์ สนับสนุนเอกชนในการเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศ เพิ่มการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดการนำเข้า ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) 3.การพัฒนาทักษะและองค์กรความรู้ โดยพัฒนาคุณภาพครู กระจายมาตรฐานการศึกษาในเมืองและชนบทให้เท่าเทียมกัน พัฒนาฐานข้อมูลด้านการผลิต การค้า การลงทุน การตลาด เพื่อให้นักลงทุนทำการตัดสินใจหรือประกอบการลงทุน
4.การสร้างและส่งเสริมจริยธรรมและธรรมาภิบาล ส่งเสริมให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาลให้มากขึ้น ยกระดับมาตรฐานการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีความรวดเร็ว และ 5.การป้องกันและเฝ้าระวังปัญหา มีระบบเตือนภัยเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ และมีกลไกทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ลดความขัดแย้งทางด้านการเมือง เร่งสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ และสร้างความสงบใน 3 จังหวัดใต้ สนับสนุนการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ