นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สถานการณ์ความต้องการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการที่ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมหันไปหาโปรตีนทางเลือกอื่นที่มีคุณค่าทางอาหารและโภชนาการเทียบเท่าเนื้อหมูในราคาที่เหมาะสม ซึ่งเนื้อไก่เป็นโปรตีนคุณภาพดีย่อยง่าย ที่สำคัญราคาถูกกว่าเนื้อหมูในขณะนี้ถึง 3 เท่า ทำให้จูงใจผู้บริโภคในการเปลี่ยนไปหาเนื้อสัตว์ทดแทน ซึ่งร้านอาหารและร้านอาหารตามสั่ง มีการปรับวัตถุดิบจากเนื้อหมูมาเป็นเนื้อไก่มากขึ้นด้วย
"สมาคมฯ ขอขอบคุณคนไทยแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ที่เข้าใจสถานการณ์และเลือกกินเนื้อไก่ทดแทนเนื้อหมู ทำให้ผู้เลี้ยงมีตลาดรองรับเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาประเทศในยามวิกฤตขาดแคลนเนื้อหมูแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่มีกำลังใจดำเนินธุรกิจต่อไป หลังแบกภาระขาดทุนตลอดช่วงระยะเวลาโควิด-19 เกษตรกรพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลและสร้างแหล่งอาหารมั่นคงและยั่งยืน ให้กับคนไทยในทุกสถานการณ์" นางฉวีวรรณ กล่าว
นางฉวีวรรณ กล่าวว่า ความต้องการเนื้อไก่ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย โดยราคาเฉลี่ยหน้าฟาร์มปรับมาอยู่ที่ 37-39 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่คนเลี้ยงมีต้นทุน 36-38 บาทต่อกิโลกรัม แม้จะปรับไม่มากและเป็นราคาทรงตัวตั้งแต่ปลายปี 2564 แต่ก็ดีขึ้นกว่าช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และดีกว่าเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วที่ราคาเฉลี่ยประมาณ 34-35 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันราคาไก่ทั้งตัวเฉลี่ยต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 80 บาท อกไก่ 75 บาท น่องไก่ 65 บาท ซึ่งคาดว่าราคาน่าจะทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นตามปริมาณความต้องการในตลาด ในระหว่างรอผลผลิตเนื้อหมูจากการเลี้ยงรอบใหม่อีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ภาคปศุสัตว์และอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของไทย ยังประสบกับปัญหาสำคัญคือต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นต้นทุนหลักประมาณ 60% ของต้นทุนการเลี้ยง ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงปี 2-3 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรต้องประสบกับการขาดทุนสะสมจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2564 ราคาปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 30-40% รวมถึงปัจจัยการผลิตและการป้องกันโรคระบาดปรับราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการบริหารจัดดังกล่าวมานาน ซึ่งราคาเนื้อไก่ที่ปรับขึ้นนี้จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ให้มีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อไทยได้มาตรฐานสากลระดับโลก และปฏิบัติตามแนวทางการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agricultural Practice : GAP) ได้รับการตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้อนตลาดในประเทศและต่างประเทศ สร้างหลักประกันให้กับผู้บริโภคเนื้อไก่ให้ได้รับโปรตีนคุณภาพดีและปลอดภัยอย่างยั่งยืน