นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อว่า ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เพียงแต่เห็นว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยคาดว่าในปี 65 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.4% ส่วนในปี 66 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.7% จากในปี 64 ที่ขยายตัวได้ 0.9%
ทั้งนี้ ได้ประเมินจากกรณีฐานที่คาดว่าการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนจะสามารถควบคุมได้ภายในไตรมาส 1/65 ดังนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในช่วงแรกของปีเป็นหลัก คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปี 65 จะอยู่ที่ราว 5.6 ล้านคน ส่วนการระงับมาตรการเดินทางเข้าไทยในรูปแบบ Test & Go นั้น คาดว่าจะเป็นแค่ชั่วคราวในช่วงไตรมาสแรก ประกอบกับการใช้มาตรการควบคุมเฉพาะบางพื้นที่เพื่อควบคุมการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และคาดว่าจะเริ่มผ่อนคลายได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 เช่นกัน ซึ่งจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาถึง 90% ในช่วงครึ่งหลังของปี 65
"ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน น่าจะเห็นชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปี 65...ส่วนปี 66 เรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 4.7% การฟื้นตัวจะกลับมาเข้มแข็งในปี 66 และอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด" นายสักกะภพระบุ
ด้านสถานการณ์เงินเฟ้อ มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราวในช่วงครึ่งแรกของปี 65 จากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ซึ่งยังคงต้องติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อโลก และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมทั้งปัญหา Supply disruption อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการของ ธปท.
"เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้น จากปัจจัยเรื่องของอุปทานเป็นหลัก โดยเฉพาะน้ำมันและค่าไฟ ซึ่งเชื่อว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ทำให้เงินเฟ้อจะสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 65 แต่หลังจากนั้นจะค่อยๆ เริ่มลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง"นายสักกะภพ กล่าว
ด้านนายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินท่ามกลางแนวโน้มเงินเฟ้อสูงในขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจจะยังซึมตัวจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงมาจากปัจจัยด้านอุปทานชั่วคราว และมีแนวโน้มจะทยอยปรับลดลงได้ ดังนั้น ธปท.จะยังให้น้ำหนักกับการดูแลเศรษฐกิจมากกว่า เพราะมองว่าไม่คุ้ม หากจะทำนโยบายการเงินด้วยการดึงเศรษฐกิจชะลอเพื่อฉุดให้เงินเฟ้อต่ำลง
"เงินเฟ้อที่เร่งขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานชั่วคราวนั้น เราจะมองข้ามไป เพราะเงินเฟ้อจะค่อยๆ ทยอยลดลงได้ เพราะฉะนั้น ไม่คุ้มที่จะดึงเศรษฐกิจให้ชะลอลง เพื่อฉุดให้เงินเฟ้อลดลง เราจะให้น้ำหนักกับการดูแลเศรษฐกิจต่อไป แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องเงินเฟ้อ" นายปิติ กล่าว
ส่วนสถานการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้ มองว่าทิศทางจะดีกว่าในปี 64 ที่เงินบาทอ่อนค่าไปมากเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลพวงการระบาดของโควิดที่กระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ในปีนี้มองว่าค่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังดีอยู่ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็พร้อมจะนำเครื่องมือที่เหมาะสมออกมาใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนถ้ามีความผันผวนมากเกินไป และเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี จากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของธนาคารกลางประเทศหลักๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาก และเงินบาทอ่อนค่าลงมากในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท.จะจับตาการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ เพราะถือว่าเป็น Global shock ที่ทุกประเทศต้องเจอ
ทั้งนี้ ธปท. ได้แจ้งว่าจะมีการปรับจำนวนการประชุม กนง.เหลือ 6 ครั้งต่อปี จากเดิม 8 ครั้งต่อปี แต่ยังคงการเผยแพร่รายงานนโยบายการเงิน 4 ครั้งต่อปีเท่าเดิม โดยให้เหตุผลของการปรับลดจำนวนการประชุม กนง.ลง เนื่องจากมองว่าข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากในช่วงสั้นๆ หากมีข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้การวิเคราะห์มีคุณภาพมากขึ้น และช่วยให้สามารถมองข้ามความผันผวนที่มาจากข้อมูลในระยะสั้นได้
นอกจากนี้ กนง.มองว่าการประชุมที่บ่อยครั้งอาจจะกระทบต่อการคาดการณ์ของตลาดการเงินโดยไม่จำเป็น ดังนั้น ความถี่ของการประชุมที่ลดลงจะช่วยให้ตลาดการเงินสามารถคาดการณ์ทิศทางนโยบายได้ชัดเจนขึ้น และเป็นการสะท้อนถึงขีดจำกัดของนโยบายที่ไม่อาจปรับแต่งภาวะเศรษฐกิจได้อย่างละเอียดใกล้ชิด นอกจากนี้ การลดความถี่ในการประชุม กนง.ลง จะช่วยให้สามารถบริหารเวลาและทรัพยากรที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นไปที่การวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงิน