ส.อ.ท.จับมือพันธมิตรพัฒนาดัชนีชี้วัดวงจรเงินสดของธุรกิจประเทศไทย เพื่อใช้วางแผนธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 11, 2022 14:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.เห็นถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BIG DATA มาใช้วิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ทั้งในมิติรายประเภทธุรกิจ (Sector-specific) เชิงพื้นที่ (Area-specific) และเชิงประเด็น (Issue-based) เพื่อสนับสนุนข้อมูลให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

การศึกษาจัดทำดัชนีชี้วัดวงจรเงินสดของธุรกิจประเทศไทย "CCC - Cash Conversion Cycle" จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการต่อยอดการพัฒนาและยกระดับการนำข้อมูล BIG DATA มาใช้ในการวิเคราะห์ จัดทำเป็น Indicator ตัวชี้วัดในการติดตามสภาพเศรษฐกิจและธุรกิจของประเทศไทย ซึ่งในปี 2565 นี้ ส.อ.ท.จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและขยายผลดัชนีฯ และสนับสนุนในการนำข้อมูล BIG DATA มาใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ อาทิ การต่อยอดฐานข้อมูลดัชนีวงจรเงินสดของประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย (Benchmark) การจัดทำดัชนีตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับด้านปัจจัยการผลิตของภาคอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงและพัฒนาระบบบริการด้านข้อมูล หรือ Data service ร่วมกัน และการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ประเทศไทยในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy ต่อไป

นายรุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาในปี 2563-2564 ทางคณะฯ ได้มีความร่วมมือกับบริษัท ครีเดน เอเชีย จำกัด ซึ่งทำเรื่อง BIG DATA ของภาคธุรกิจ โดยนำความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ที่มีอยู่มาร่วมมือกันในการจัดทำดัชนีชี้วัดวงจรเงินสดของธุรกิจประเทศไทย (CCC-Cash Conversion Cycle) ซึ่งมีการจัดทำดัชนีขึ้นมาแล้ว 2 ปี ติดต่อกัน ปี 2562-2563 เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามวงจรการเงินของธุรกิจบริษัทที่มีอยู่ในประเทศไทย

โดยองค์ประกอบข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ ดังนี้ 1) ระยะเวลาเก็บเงินลูกค้า 2) การบริหารสินค้าคงคลัง 3) ระยะเวลาจ่ายเงินเจ้าหนี้ ภายใต้ฐานข้อมูลของบริษัทในประเทศไทยเกือบ 500,000 แห่ง ที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ โดยปี 2565 นี้ จะมีการขยายความร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาและต่อยอดการจัดทำดัชนีชี้วัดวงจรเงินสดของธุรกิจประเทศไทย CCC-Cash Conversion Cycle ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

สำหรับผลดัชนีชี้วัดวงจรเงินสดของธุรกิจประเทศไทย CCC-Cash Conversion Cycle ล่าสุดในปี 2563 พบว่า ผู้ประกอบการในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยที่ 26.1 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 14.8 วัน แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการทั่วประเทศ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดการขาดสภาพคล่องของกิจการ

เมื่อจำแนกราย Sector พบว่า ภาคเกษตรกรรม มีค่าเฉลี่ยที่ 16.1 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 8.6 วัน ภาคอุตสาหกรรม มีค่าเฉลี่ยที่ 26.2 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 13.6 วัน และภาคบริการ มีค่าเฉลี่ยที่ 26.2 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 4.2 วัน

หากจำแนกตามขนาดธุรกิจ ในปี 2563 พบว่า ผู้ประกอบการขนาด Micro มีค่าเฉลี่ยที่ 16.4 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 5.0 วัน ผู้ประกอบการรายเล็ก มีค่าเฉลี่ยที่ 33.7 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 20.7 วัน ผู้ประกอบการรายกลาง มีค่าเฉลี่ยที่ 33.4 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 28.9 วัน และผู้ประกอบการรายใหญ่ มีค่าเฉลี่ยที่ 42.5 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 36.5 วัน

หากจำแนกตามภูมิภาค ในปี 2563 พบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าเฉลี่ยที่ 19.8 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 14.8 วัน ภาคกลาง มีค่าเฉลี่ยที่ 22.1 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 19.8 วัน ภาคตะวันออก มีค่าเฉลี่ยที่ 18.9 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 14.7 วัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าเฉลี่ยที่ 18.2 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 16.6 วัน ภาคเหนือ มีค่าเฉลี่ยที่ 16.0 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 13.4 วัน ภาคตะวันตก มีค่าเฉลี่ยที่ 17.3 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 16.6 วัน และภาคใต้ มีค่าเฉลี่ยที่ 12.9 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 10.9 วัน

การที่มี BIG data ของภาคธุรกิจนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน อาทิ สามารถวิเคราะห์แนวโน้มของการดำเนินธุรกิจในอนาคตได้ โดยเข้ามาช่วยประกอบการวางแผนและการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของการลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความมุ่งมั่นที่จะนำข้อมูลในระบบ Big data นี้มาใช้พัฒนาดัชนีชี้วัดความสามารถด้านอื่น ๆ อีก อาทิ ตัวชี้วัดด้านการเงิน และตัวชี้วัดด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เป็นต้น ที่สามารถสะท้อนและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยต่อไปในอนาคต

ด้านนายธนิศร์ คุณีพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจข้อมูล บริษัท ครีเดน เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ได้ทำงานร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ และ สภาอุตสาหกรรม ในการสร้างระบบวิเคราะห์ข้อมูล AI ทางการเงิน ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แล้ว จึงทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของภาพรวมทั้งประเทศ แบ่งตามพื้นที่ จังหวัด แยกอุตสาหกรรม และมีกำหนดการจะพัฒนา Creden Score ที่เป็นการวิจัยร่วมกัน ในการวิเคราะห์ความสามารถด้านต่างๆ ของบริษัทภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถดูข้อมูลของแต่ละบริษัททั้งประเทศไทยได้ฟรีที่ https://data.creden.co


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ