นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Meet the Press ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 65 ยังเป็นการฟื้นตัวแบบเปราะบาง ไม่รวดเร็ว และฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกับในแต่ละ sector หรือเป็นการฟื้นตัวในลักษณะของ K-shape โดยเศรษฐกิจไทยถือว่ายังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ซึ่งคาดว่ากว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเทียบเท่ากับในระดับก่อนเกิดโควิด-19 น่าจะเป็นช่วงไตรมาส 1/66
"การที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดนั้น ในปีนี้คงไม่เห็นแน่ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงไตรมาสแรก ปี 66" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
โดยสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด นอกจากนี้ ในความเห็นของประชาชนทั่วไป มองว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น เพราะรายได้จากการจ้างงานยังไม่กลับมา
ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ธปท.มองว่าไม่น่าเป็นห่วง และยังเชื่อว่าทั้งปี 65 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย (1-3%) อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมากจนหลุดกรอบ ก็มีมาตรการที่พร้อมจะนำออกมาใช้ดูแล
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า โจทย์หลักของ ธปท. คือทำอย่างไรให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด และห้ามสะดุด โดยปีนี้ความเสี่ยงที่จะสะดุดอยู่ 4 เรื่อง คือ 1. การระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ 2. อัตราเงินเฟ้อ 3.การเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย (NPL) และ 4.ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
โดยความเสี่ยงแรก การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะโอมิครอน ที่ต้องจบให้ไวภายในครึ่งปีแรก และไม่มีสายพันธุ์อื่นระบาดอีก เพื่อให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังฟื้นตัว มีนักท่องเที่ยวเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ที่ 5 ล้านคน โดยในกรณีที่เลวร้าย จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงทุก ๆ 1 ล้านคน จะกระทบกับ GDP ลดลง 0.3-0.4%
"ธปท.ได้เตรียมความพร้อม เครื่องมือ หรือมาตรการเพียงพอที่จะรองรับหากเกิดเหตุการณ์ยืดเยื้อ เราจะทำอย่างไรก็ได้ให้ระบบสถาบันการเงินทำงานได้ใกล้เคียงปกติที่สุด อย่าให้อยู่ดี ๆ มีการตึงตัวของสินเชื่อจนเร็วเกินไป ที่ผ่านมาเราทำได้ดี ทั้งในส่วนของสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการรวมหนี้" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ความเสี่ยงที่ 2 อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น แม้เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในเชิงมหภาคไม่ได้น่ากลัวเหมือนต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก เพราะเงินเฟ้อของไทยค่อย ๆ ปรับขึ้น โดยอัตราเฟ้อปีนี้ที่คาดการณ์ไว้ 1.7% ยังไม่เห็นสัญญาณต้องปรับ เพราะถือว่ายังอยู่ในกรอบ 1-3% ขณะที่ราคาสินค้าไม่ได้ปรับขึ้นเป็นวงกว้าง
"เงินเฟ้อระลอก 2 ยังไม่เห็น เพราะภาพเศรษฐกิจ การจ้างงาน ค่าแรงยังไม่ขึ้น เพราะรายได้หายไปจากภาคท่องเที่ยว แต่ ธปท. ไม่ได้ชะล่าใจ หากเฟ้อส่งสัญญาณเพิ่มเป็นวงกว้าง ก็ต้องมีมาตรการรองรับ" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ความเสี่ยงที่ 3 การเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย (NPL) ที่แนวโน้มค่อย ๆ เพิ่ม ไม่ได้เพิ่มแบบร้อนแรง เนื่องจากมีมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้เกิดการสะดุด โดยเฉพาะโครงการปรับโครงสร้างหนี้ที่ดำเนินการไปแล้ว และมาตรการร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งหลักเกณฑ์จะออกปลายเดือน ม.ค.นี้
ความเสี่ยงที่ 4 สถานการณ์เศรษฐกิจโลก หลายประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็ว ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ดี โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะสะดุดมีน้อยมาก ขณะที่มีโอกาสที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว แต่เชื่อว่าคงไม่เพียงพอจะที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุด เพราะการส่งผ่านการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่มีนัยกับประเทศอื่น รวมถึงไทยเริ่มน้อยลง
ส่วนกรณีที่นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักประเมินว่า ไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวร่วมกับเงินเฟ้อสูง (stagflation) นั้น ธปท.ยืนยันว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะดังกล่าว โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
"เศรษฐกิจไทยปี 65 คาดว่าจะขยายตัว 3.4% ก็ไม่ได้เป็นการเติบโตที่เลวร้ายอะไร ก็เลยถามว่า ไทยตอนนี้อยู่ในภาวะ stagflation หรือเปล่า แต่ในอนาคตจะมีโอกาสเจอไหม ก็ไม่คิดว่าจะเจอ เพราะเงินเฟ้อปี 66 อยู่ที่ 1.4% ส่วน GDP ปีหน้าคาดว่าโตเกือบ 4% จากฐานต่ำ และการฟื้นตัวของท่องเที่ยว" นายเศรษฐพุฒิ ระบุ