ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือน ธ.ค.64 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 46.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 44.9 ในเดือนพ.ย. 64
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 40.1, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 42.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 55.7
โดยมีปัจจัยบวก คือ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 7 มาตรการ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%, กนง.ปรับคาดการณ์ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 64 เพิ่มขึ้นเป็น 0.9% จากเดิมคาด 0.7% และยังคงคาดการณ์ GDP ปี 65 และ ปี 66 ขยายตัวต่อเนื่อง, สถานการณ์โควิด-19 ระดับโลกปรับตัวดีขึ้นจากการฉีดวัคซีนมากขึ้น รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดของไทยมีแนวโน้มลดลง, การส่งออกเดือนพ.ย.64 ขยายตัว 24.73% และพืชผลทางการเกษตรหลายตัวปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดที่ยังมีทั่วประเทศ รวมทั้งไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอนทำให้มีการยกเลิก Test&Go ชั่วคราว, ผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว และค่าครองชีพสูง, ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมือง และ เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนธ.ค. 64 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนเม.ย.64 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มคลายความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ที่แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน อาจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนช่วงหลังวันหยุดยาวปีใหม่ 2565 แต่จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันในประเทศเริ่มมีแนวโน้มลดลง
ประกอบกับการฉีดวัคซีนในประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงการยกเลิกมาตรการเปิดประเทศภายใต้ระบบ Test&Go อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถดลง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ม.หอการค้าไทย ยังคงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 65 ไว้ที่ 4% ภายใต้สถานการณ์ที่คาดว่าการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะคลี่คลายลงได้ในเดือนม.ค.นี้ และที่สำคัญต้องไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ ซึ่งแม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจจะปรับตัวลดลงบ้าง แต่ก็ไม่ทรุดตัวลงแรง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็งพอที่จะรับมือกับสถานการณ์โอมิครอนได้ดี โดยเชื่อว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ในช่วงไตรมาส 2 และจะเติบโตอย่างเข้มแข็งได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 65 เป็นต้นไป
"เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับโอมิครอนได้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2...เรามองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ 4% ตามที่คาดไว้เดิม ภายใต้การคาดว่าสถานการณ์โอมิครอนจะคลี่คลายได้ภายในเดือนม.ค. เรายังไม่ปรับ GDP" นายธนวรรธน์กล่าว
พร้อมมองว่า ขณะนี้รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งเดินหน้าโครงการ "คนละครึ่ง" อย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้เป็นอย่างดี และเมื่อการระบาดในประเทศคลี่คลายลงแล้ว รัฐบาลอาจจะต้องปรับโหมดจากการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยไปเป็นการกระตุ้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวด้วยว่า การระงับการเดินทางเข้าประเทศในระบบ Test&Go หากมีผลบังคับใช้เฉพาะช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาได้ในไตรมาส 2 ก็อาจจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะไม่กระทบภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มากนัก แต่หากระงับการเดินทางแบบ Test&Go ไปตลอดทั้งปี ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ต่ำกว่า 3%
"ถ้าเปิดให้นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาได้ในไตรมาส 2 ก็จะสูญเสียเพียง 5 หมื่นล้านบาท ไม่กระทบเศรษฐกิจไทยในกรอบ 3-4% มากนัก แต่ถ้าปิด Test&Go ทั้งปี ก็มีโอกาสที่จีดีพีจะโตได้น้อยกว่า 3% ถ้าเปิดตั้งแต่ไตรมาส 2 ก็มีโอกาสจะโตได้มากกว่า 3.5% ทั้งนี้ไม่ควรจะมีการล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด เพราะถ้าล็อกดาวน์บางส่วน จะเสียหายอีก 3-5 แสนล้านบาท แต่ถ้าล็อกดาวน์ทั้งหมด จะเสียหายสูงถึง 8 แสนล้าน - 1 ล้านล้านบาท และส่งผลให้เกิดการว่างงาน ปัญหา NPL และปัญหาสภาพคล่องตามมา" นายธนวรรธน์ ระบุ
ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ประเมินว่าในปี 65 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 4% โดยในช่วงครึ่งปีแรก โต 2.5-3% ส่วนครึ่งปีหลัง โต 5-5.5% อัตราเงินเฟ้อทั้งปี อยู่ที่ระดับ 1.5% โดยในช่วงครึ่งปีแรก อยู่ที่ 2-2.5% และครึ่งปีหลัง อยู่ที่ 1-1.5%