KTB แนะธุรกิจเกษตรและอาหารเร่งลงทุนปรับตัวสร้างทางรอดในยุค BCG Economy หวั่นกระทบส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 13, 2022 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาคเกษตรและอาหารเป็นสาขาแรกๆ ที่ต้องเร่งปรับตัว หากต้องการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม เนื่องจากเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับสองรองจากภาคพลังงาน

อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ประกอบการเกษตรและอาหารของไทยกลับยังไม่พร้อมรับมือเทรนด์นี้ สะท้อนจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีจำนวนค่อนข้างน้อย อีกทั้งผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยส่วนใหญ่เป็น SMEs ถึง 94% ซึ่งอาจทำให้มีข้อจำกัดในการปรับตัว

ด้านนายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ในระยะข้างหน้ามาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ จะเพิ่มความเข้มข้น ทั้งมาตรการที่ส่งผลเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเกษตรและอาหารโดยตรง เช่น นโยบายฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) โดยการลดการสูญสียจากอาหารขยะ การผลิต บริโภค แปรรูป และจำหน่ายอาหารอย่างยั่งยืน และการบังคับใช้ฉลากรักษ์โลกในอุตสาหกรรมอาหาร (Eco-labeling)

ส่วนมาตรการที่มีโอกาสจะขยายวงมาสู่ธุรกิจเกษตรและอาหาร เช่น มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) และกฎหมายเก็บภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Tax) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทางการค้าต่อผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ และอาหารสัตว์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเมื่อเทียบกับภาพรวมสินค้าเกษตรด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังทั้งสองตลาดรวมกันสูงถึง 7 หมื่นล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจเกษตรและอาหารอีกอย่างน้อย 7 แสนล้านบาทในช่วงปี 2563-2593 หรือเฉลี่ยปีละ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทยราว 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้สามารถแบ่งรายละเอียดการลงทุนออกเป็น 3 ด้านหลักๆ คือ

1. เพิ่มการลงทุนในด้านการปลิตอาหารจากพืช หรือโปรตีนจากพืช (Plant-based food) ใช้เงินลงทุนประมาณ 4.8 แสนล้านบาท

2. เพิ่มการลงทุนในการจัดการระบบปศุสัตว์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.8 แสนล้านบาท

3. เพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อช่วยลดทอนผลกระทบจากความเสียหายที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจสูงถึง 8.4 หมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันภายใต้กฎเกณฑ์ทางการค้าใหม่ๆ โดยใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

สำหรับแนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการ จากตัวอย่างของเทคโนโลยีเกษตรรักษ์โลกที่เป็นที่นิยมในไทย คือ การนำของเสียที่ได้จากโรงงานผลิตปศุสัตว์มาเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพ การนำสินค้าเกษตรและวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรไปผลิตเป็นพลังงานสะอาด ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดก๊าซได้ถึง 70% และการปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง (AWD) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ราว 30%

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS แนะนำ 3 หมวดเทคโนโลยีด้านเกษตรที่คาดว่าจะเป็นเทรนด์ในอนาคต คือ 1. การปรับปรุงระบบการจัดการด้านปศุสัตว์ 2. การปรับปรุงระบบการจัดการด้านการเกษตร และ 3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรัปประทานอาหารของผู้บริโภค

สำหรับมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ที่หลายประเทศกำลังบังคับใช้ สะท้อนถึงผลจาก Climate Change ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลกปี 2567 คาดว่าจะเห็นการ "ยกระดับ" มาตรการและข้อบังคับให้เข้มข้นขึ้น ทั้งยังขยายความครอบคลุมไปยังภาคเกษตรและอาหารในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในส่วนของประเทศไทย ผู้เล่นรายใหญ่เริ่มตื่นตัวอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซในรูปแบบใหม่ๆ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมลด ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้เล่นใน Ecosystem อย่าง SMEs ควรตื่นตัวรับกระแส Net Zero Emission ซึ่งเป็นเหมือนทางรอดของธุรกิจในยุคที่ BCG Economy กำลังมีบทบาทสำคัญต่อโลกมากขึ้นทุกขณะ

"ถ้าธุรกิจไม่การปรับตัวเลยน่าจะลำบาก โดยเฉพาะด้านการค้า ภายใต้แรงกดดันจากประเทศผู้นำเข้าสำคัญๆ ที่มีแนวโน้มออกกฎระเบียบทางการค้าใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกหากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน ผู้ประกอบการจึงต้องคำนึงถึงมาตรฐาน ความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งต้องให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น" นายอภินันทร์ กล่าว

นายอภินันทร์ กล่าวถึงสถานการณ์ของราคาสุกรที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ว่า เหตุเริ่มมาจากช่วงปี 2557-2558 ที่เกษตรกรเริ่มทยอยเลิกเลี้ยงสุกรลดลงเรื่อยๆ ประกอบกับประสบกับโรคระบาด ส่งผลให้สุกรจะลดลงไปอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกราคายังยืนสูงอยู่ แต่ช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์น่าจะบรรเทาลง จากมาตรการของรัฐที่ออกมา และโรคระบาดที่เริ่มบรรเทาลง ทั้งนี้ เรื่องราคาสุกรที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก โดยโอกาสที่ราคาสุกรจะขึ้นไปถึง 300 บาทต่อกิโลกรัมนั้นเป็นไปได้น้อยมาก หากรัฐยังคงตรึงราคาไว้อยู่ และหากมีแนวโน้มที่ราคาจะขึ้นไปถึงระดับนั้น ภาครัฐก็น่าจะมีมาตรการออกมา เช่น การนำเข้าสุกรจากต่างประเทศ เป็นต้น

ด้าน น.ส.พิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ในปี 63 ภาคเกษตรและอาหารปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.7 หมื่นล้านตัน CO2eq หรือคิดเป็น 30% โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดว่าในปี 2593 ภาคเกษตรและอาหารจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกแตะ 2 หมื่นล้านตัน CO2eq โดยประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 3 ของประเทศในอาเซียน ส่วนภาคเกษตรของไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ การเพาะปลูกข้าว 50.7% รองลงมาคือการใช้ดินปลูกพืช 22.7% และการเลี้ยงปศุสัตว์ 20.7%

"การลดการปล่อยก๊าซในประเทศไทยค่อนข้างมีความท้าทายสูง หากทุกภาคส่วนยังคงไม่เปลี่ยนพฤติกรรม การจะไปถึงเป้าหมายในปี 2593 จึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ปัจจุบันผู้ประกอบการด้านเกษตรและอาหารไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่พร้อมรับเทรนด์ Net Zero Emission โดยมีโครงการภาคเกษตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียน T-VER น้อยมาก" น.ส.พิมฉัตร กล่าว

ดังนั้น ธุรกิจเกษตรและอาหารของไทยต้องใส่ใจเทรนด์ Net Zero Emission อย่างจริงจัง ดังนี้

1. ภาคเกษตรไทยมีความเปราะบางสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคาดว่าจะสร้างความเสียหายเฉลี่ย 1.8-8.4 หมื่นล้านบาทต่อปี

2. ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้นกับผลกระทบจากอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

3. บริษัทเกษตรและอาหารสำคัญของโลกต่างมุ่งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง

4. เทคโนโลยีด้าน Climate Tech ก้าวหน้าไปมาก เอื้อต่อการนำมาประยุกต์ใช้ ทั้งนี้ เริ่มเห็นการลงทุนของ Startup ใน Climate Tech ของกลุ่มเกษตรกรและอาหารที่มีเม็ดเงินที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว่า สำหรับสัดส่วนของ GDP ในปี 65 ยังคงไว้ที่ 3.8% โดยได้มีการประเมินความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนไว้แล้ว ซึ่งโอมิครอนนั้นจะส่งผลให้ไทยมีการชะลอการใช้จ่ายออกไปบ้าง อย่างไรก็ดี เมื่อมองสถานการณ์ในต่างประเทศที่ประสบกับโอมิครอนมาก่อนหน้าประเทศไทย จะเห็นได้ว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้ความรุนแรงของโรคลดลง ดังนั้น สำหรับประเทศไทย มองว่าสถานการณ์โอมิครอนจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงจนต้องมีการล็อกดาวน์ โดยจะมีผลกระทบในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. 65 และหลังจากนั้นสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย ด้านการส่งออกยังไม่ได้รับผลกระทบจากโอมิครอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ