นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 65 ขยายตัว 3.3% แม้ว่าจะเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเข้ามากดดัน โดยเฉพาะต่อภาคการท่องเที่ยว โดยหากการแพร่ระบาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเปิดประเทศล่าช้าออกไป จะส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสช่วงไฮซีซั่นท่องเที่ยวตลอดทั้งไตรมาส 1/65 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ธนาคารยังคงติดตาม เพราะจะมีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่จะสนัลสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงเป็นภาคการส่งออกที่ยังเติบโตได้อย่างดีต่อเนื่อง และค่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าในระดับที่ทำให้การส่งออกได้รับประโยชน์ โดยต้นปีนี้อยู่ที่ระดับประมาณ 33.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่มีปัจจัยต้องยังเผชิญกับการบริโภคในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาดีมากนัก จากการที่รายได้ของคนในประเทศบางส่วนลดลงไป โดยเฉพาะรายได้ของกลุ่มท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา ประกอบกับ ราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นและภาพเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้คนในประเทศอาจชะลอการจับจ่ายใช้สอย จึงมองว่ายังต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศของภาครัฐเข้ามาเสริม
สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อไป แม้ว่าทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศอื่นๆ จะเป็นขาขึ้น แต่ดอกเบี้ยของไทยน่าจะปรับขึ้นช้ากว่าประเทศอื่น เพราะเศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นจากผลกระทบของโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก หรือราว 2% ถือว่าอยู่ในกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ในช่วง 1-3% จึงยังไม่ความจำเป็นมากนักที่ต้องเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ขณะที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้งมาอยู่ที่ 0.75% ในช่วงสิ้นปี 65 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยปีนี้อยู่ต่ำกว่าสหรัฐฯที่ 0.50% อาจทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศไทยได้ และจะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง รวมทั้งหากประเทศไทยยังคงใช้งบประมาณแบบขาดดุล จะทำให้ค่าเงินบาทยิ่งอ่อนค่า ซึ่งจะต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีที่ฟื้นตัวขึ้นเพื่อพยุงดุลบัญชีเดินสะพัดเกิดความสมดุลและรักษาระดับค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
โดยประเมินว่าการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะเกินดุลได้มากในปีนี้จะต้องมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 5-10 ล้านคน และมีโอกาสทำให้ค่าเงินบาทในปลายปีนี้กลับมาแข็งค่าที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และในส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นจะเริ่มเห็นการปรับขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 66 หลังจากที่ปัจจัยต่างๆของเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น และในปี 66 คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง