นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และมาตรการการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก กรมฯ จึงได้จัดโครงการจับคู่เจรจาการค้าสำหรับสินค้าผลไม้ที่มีผลผลิตทั้งปี และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปในรูปแบบออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) ระหว่างวันที่ 16-17 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าผลไม้ที่มีผลผลิตทั้งปี อาทิ มะม่วง มะพร้าว มะขาม และส้มโอ รวมถึงผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ได้เจรจาการค้าและวางแผนการส่งออกของปี 65 ได้ล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการดังกล่าวเป็น 1 ใน 63 โครงการที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้วางแผนจะดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกประจำปี 65
สำหรับการจับคู่เจรจาการค้าออนไลน์ในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วม 82 บริษัท ผู้นำเข้า 79 บริษัท มีการจับคู่เจรจาทั้งสิ้น 238 คู่ และเจรจาสำเร็จ 190 คู่ สินค้าที่ได้รับความสนใจ 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลไม้สด ผลไม้อบแห้ง ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้อบแห้งแช่แข็ง และน้ำผลไม้ โดยประเทศที่เข้าร่วมการเจรจาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเมียนมา สร้างยอดเจรจาการค้ากว่า 1,454 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนการจัดโครงการ OBM สินค้าผลไม้อีก 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมี.ค. เพื่อรองรับฤดูผลไม้ในภาคตะวันออก และในเดือนก.ค. เพื่อรองรับฤดูผลไม้ของภาคใต้และภาคเหนือ โดยในปี 64 ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมดังกล่าวจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ให้ยังสามารถส่งออกได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่าการเจรจาการค้ารวมทั้งสิ้น 4,248 ล้านบาท
นายภูสิต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการจัดการประชุมรายสินค้า (Chief of Product : COP) ร่วมกับภาคเอกชนกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา ผลจากการประชุมมีการคาดการณ์ว่า สินค้าผลไม้จะมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดียิ่งขึ้นในปี 65 โดยกรมฯ ได้รวบรวมข้อคิดเห็นจากภาคเอกชนในการดำเนินการและเตรียมความพร้อม เพื่อให้การบริหารระบบโลจิสติกส์ในฤดูผลไม้เป็นไปอย่างราบรื่นต่อไป