กมธ.กม.ต่างด้าว เตรียมพิจารณา 4 ทางเลือก ผ่อนผันธุรกิจในบทเฉพาะกาล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 15, 2007 18:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว วันพรุ่งนี้(16 พ.ย.)จะพิจารณาบทเฉพาะกาลที่ได้แก้ไขใหม่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น หลังจากเพิ่มความเข้มงวดในคำนิยามคนต่างด้าวแล้ว 
โดยบทเฉพาะกาลดังกล่าวประกอบด้วย 4 ทางเลือก ทางเลือกแรก ให้ยึดบทเฉพาะกาลเดิม โดยธุรกิจในบัญชี 3(ธุรกิจที่คนไทยไม่พร้อมแข่งขัน)ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงคำนิยามต่างด้าวใหม่ ให้มาขออนุญาตและประกอบธุรกิจต่อไปได้จนกว่าจะเลิกกิจการ ส่วนบัญชี 1(ธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการ) และบัญชี 2(ธุรกิจที่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี) ให้ประกอบธุรกิจต่อไปได้ภายใน 3 ปี จากนั้นต้องปรับโครงสร้างให้ถูกต้อง
ทางเลือกที่สอง ขยายระยะเวลาการปรับโครงสร้างให้แก่ธุรกิจบัญชี 1 และ 2 เพิ่มขึ้นจาก 3 ปี โดยอาจจะเป็น 5 หรือ 7 ปี ทางเลือกที่สาม อนุญาตให้ธุรกิจบัญชี 2 ที่ได้รับผลกระทบจากคำนิยามคนต่างด้าว ประกอบธุรกิจต่อไปได้ เหมือนบัญชี 3 แต่ต้องมีเงื่อนไข เช่น คนต่างด้าวถือหุ้นไม่เกิน 60% และเป็นกรรมการไม่เกิน 2 ใน 3 และทางเลือกที่สี่ อนุญาตให้ทั้งบัญชี 1 และ 2 ประกอบธุรกิจต่อไปได้ แต่มีเงื่อนไขห้ามขยายธุรกิจเพิ่มเติม
"ทั้ง 4 แนวทาง ถือเป็นการผ่อนผันธุรกิจในบัญชีแนบท้าย ซึ่งต้องแล้วแต่คณะกรรมาธิการจะตัดสินใจเลือกแนวทางใด ซึ่งบัญชี 3 นั้น ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะบทเฉพาะกาลเดิมผ่อนผันให้อยู่แล้ว แต่บัญชี 1 และบัญชี 2 จะมีการผ่อนผันมากขึ้น ตามคำนิยามคนต่างด้าวที่มีการปรับให้เข้มขึ้น การประชุมวันที่ 16 พ.ย.นี้น่าจะได้ข้อสรุป จากนั้นก็จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป และน่าจะมีผลบังคับใช้ทันในรัฐบาลชุดนี้" นายคณิสสร กล่าว
ส่วนอำนาจชี้นำการดำเนินการของนิติบุคคล ซึ่งเป็นหนึ่งในเกณฑ์ควบคุมกิจการที่เพิ่มลงไปในคำนิยามต่างด้าวใหม่นั้น มีข้อสรุปแล้ว โดยให้คำว่าอำนาจชี้นำ หมายถึง การที่ผู้ถือหุ้น, ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือสมาชิกฝ่ายข้างน้อยของนิติบุคคลมีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียวตามข้อบังคับหรือข้อตกลง เพื่อมีมติในเรื่องดังต่อไปนี้ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายข้างมาก ได้แก่ กำหนดองค์ประชุมของคณะกรรมการหรือของที่ประชุมผู้ถือหุ้น, และจัดทำหรือแก้ไขสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่น, ข้อบังคับ, บริคณห์สนธิ, เพิ่มทุน, ลดทุน, ออกหุ้นใหม่, เลิกนิติบุคคลนั้น ซึ่งหากทำได้ได้เลยไม่ต้องขออนุญาตที่ประชุม ให้ถือว่าเป็นบริษัทต่างด้าว
นายคณิสสร กล่าวว่า กรมฯ ได้ทบทวนรายการธุรกิจในบัญชีแนบท้าย 3 โดยจะกำหนดขอบข่ายธุรกิจให้ชัดเจนขึ้น โดยจะจัดขอบข่ายธุรกิจใหม่ประมาณ 10 ประเภท เช่น ธุรกิจโฆษณา, ธุรกิจให้คำปรึกษาแนะนำ, ธุรกิจให้กู้ยืมเงิน, ธุรกิจตัวแทน เป็นต้น เพื่อทำให้การพิจารณาอนุญาตให้ต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการได้หรือไม่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ต้องขออนุญาตหลายครั้ง และอาจให้ต่างชาติเข้ามาขออนุญาตทำธุรกิจเหล่านี้ได้มากขึ้นในอนาคต

แท็ก นิยาม   กมธ.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ