นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ธ.ค.64 พบว่า การส่งออกขยายตัวได้ 24.2% มาที่มูลค่า 24,930 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกทั้งปี 64 ขยายตัวถึง 17.14% ทะลุเป้าหมาย คิดเป็นมูลค่ารวม 2.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่การนำเข้าในเดือน ธ.ค.64 ขยายตัว 33.4% มาที่ 25,284.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และทั้งปี 64 การนำเข้าขยายตัว 29.8% มาที่ 2.68 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยขาดดุลการค้าในเดือน ธ.ค.64 ราว 354.2 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทั้งปี 64 เกินดุลการค้า 3,573.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยในเดือน ธ.ค.64 พบว่า การส่งออกสินค้าในทุกกลุ่มยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยกลุ่มสินค้าเกษตร ขยายตัว 21.1% สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ทุเรียน, ยางพารา, มะม่วงสด, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และมังคุด ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 24.1% สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 24% สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน, เหล็ก, เครื่องปรับอากาศ, คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ด้านตลาดส่งออกที่เติบโตสูงในเดือนธ.ค.64 เช่น ออสเตรเลีย ขยายตัว 54.4% รัสเซีย และกลุ่ม CIS ขยายตัว 45.8% สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 36.5% ลาตินอเมริกา ขยายตัว 36.5% อาเซียน ขยายตัว 35% แอฟริกา ขยายตัว 34% และตะวันออกกลาง ขยายตัว 29.5%
รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2564 ว่า ขยายตัวได้ 17.1% ที่มูลค่า 271,173 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปี 64 คือ 1. การทำงานร่วมกันของกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน ในรูปของ กรอ.พาณิชย์ ตลอดจนทีมเซลส์แมนระดับจังหวัด และระดับประเทศ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในหลายประเทศ และการเจาะตลาด FTA 2. เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยฟื้นตัวดีขึ้น 3.ภาคการผลิตทั่วโลกขยายตัวดีขึ้น 4. เงินบาทยังอ่อนค่าอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก 5.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะเป็นดาวรุ่งในปีนี้ เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง, ยาและสินค้าเวชภัณฑ์ เช่น ถุงมือยาง, น้ำตาลทราย, อาหารสัตว์เลี้ยง, รถยนต์, อัญมณี, คอมพิวเตอร์, เครื่องปรับอากาศ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน
ทั้งนี้ ในปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกไว้ที่ ขยายตัว 3-4% คิดเป็นมูลค่าราว 2.79 - 2.82 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยหนุนส่งออกที่สำคัญ ดังนี้
1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น
2. ค่าเงินบาทยังอยู่ในระดับที่เอื้อกับการส่งออก
3. ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มคลี่คลาย และคาดว่าจะเข้าสู่สมดุลได้ในช่วงกลางปี
4.การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยหนุนความต้องการสินค้ากลุ่มไอที ซึ่งไทยมีความสามารถในการผลิตและส่งออกสินค้ากลุ่มนี้
5.ความรุนแรงของสถานการณ์โควิดทั่วโลกลดลง ซึ่งทำให้ลดอุปสรรคในการเจรจาการค้าลงด้วย
6. ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 65 จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้การส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก RCEP มีความคล่องตัวขึ้น เนื่องจากอัตราภาษีเป็น 0%
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยได้ เช่น 1. สถานการณ์ระบาดของโควิดในทั่วโลกที่ยังคงอยู่ 2. ปัญหา Supply chain disruption 3. อัตราเงินเฟ้อของต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และ 4.ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน