BAY คาดบาทสัปดาห์นี้ 32.75-33.35 จับตาเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 24, 2022 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.75-33.35 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.97 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 32.82-33.35 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางความหวังเรื่องการผ่อนปรนมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยว เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ยกเว้นเยน และฟรังก์สวิสในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นและนักลงทุนปิดรับความเสี่ยง

โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ กล่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ควรดูแลปัญหาเงินเฟ้อขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ทางด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้ โดยอาจจะเริ่มในเดือนมีนาคม และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลลงจากระดับเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากปรับขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี แม้นักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง แต่ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีในช่วงระหว่างสัปดาห์ ท่ามกลางความวิตกด้านอุปทานหลังกลุ่มฮูตีในเยเมนโจมตีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงเพลิงไหม้ท่อส่งน้ำมันคีร์คูก-ซีย์ฮัน ที่ส่งน้ำมันจากอิรักไปตุรกี นอกจากนี้ ตลาดกังวลกับการที่รัสเซียส่งกองกำลังจำนวนมาก ไปยังบริเวณใกล้พรมแดนยูเครนเช่นกัน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 4,443 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 23,284 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า จุดสนใจหลักของตลาดจะอยู่ที่การประชุมเฟดวันที่ 25-26 มกราคม ซึ่งคาดว่าจะออกมาสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักลงทุน คือส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเดือนมีนาคม และขึ้นรวมทั้งสิ้นราว 100bps ในปีนี้ ยุติมาตรการซื้อสินทรัพย์ (QE) ในไตรมาสปัจจุบัน และเริ่มลดขนาดงบดุล (QT) ภายในปีนี้ กรุงศรีมองว่าการปรับตัวในตลาดพันธบัตรสะท้อนแนวโน้มดังกล่าวของนโยบายเฟดไปแล้ว ดังนั้น การที่ค่าเงินดอลลาร์จะวิ่งขึ้นต่อหลังการประชุมรอบนี้ อาจต้องการแรงหนุนจากความผันผวนของตลาดหุ้นเป็นสำคัญ

สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานยอดส่งออกเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 24.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการนำเข้าเติบโต 33.4% โดยในปี 2564 การส่งออกขยายตัว 17.1% นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 29.8% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 3.57 พันล้านดอลลาร์ กรุงศรีประเมินว่าฐานเปรียบเทียบที่สูงและการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าบางแห่งจะทำให้อัตราการเติบโตของยอดส่งออกและนำเข้าในปีนี้แผ่วลงบ้าง

อย่างไรก็ตาม โมเมนตัมของธุรกรรมการค้าโลกยังอยู่ในทิศทางค่อนข้างดี โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่ายอดส่งออกและนำเข้าในปี 2565 จะขยายตัวได้ 5% และ 6% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ