ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดส่งออกไทยในปี 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดย EIC ประเมินส่งออกเติบโตที่ 3.4% ในปีนี้ จากอานิสงส์ของการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท ประกอบกับประโยชน์จากการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนมกราคม ที่จะทำให้ไทยเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่การผลิตได้มากขึ้น ผ่านการลดภาษีนำเข้าสินค้าและการลดมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในเวทีการค้าโลก ทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.9% ภายในปี 2573
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยในปี 2565 ยังต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยกดดัน และปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ ปัญหาคอขวดอุปทานที่อาจยาวนานขึ้นจากการระบาดของโอมิครอน ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ที่ทำให้อัตราค่าระวางเรือและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) อัตราเงินเฟ้อโลกที่อาจปรับเพิ่มขึ้น หรือยืดเยื้อกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของนโยบายการจัดการด้านพลังงานรวมถึงปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์
สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2564 สามารถเติบโตได้ถึง 17.1% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี (ตัวเลขในระบบศุลกากร) โดยแม้ว่าในบางช่วงจะได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงาน เพื่อควบคุมการระบาดทั้งในประเทศไทยเองและประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน รวมถึงปัญหาคอขวดอุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งทั้งจากอานิสงส์ของปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคจะพบว่า การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ในอัตราที่ต่ำกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี แต่เร่งตัวขึ้นมาเกาะกลุ่มได้ในช่วงครึ่งหลังของปี
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการขยายตัวของการส่งออกของไทยในช่วงท้ายปี 2564 ไปยังตลาดยุโรป จะเริ่มเห็นถึงสัญญาณชะลอตัวลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการระบาดของโอมิครอนในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปที่บางประเทศได้เริ่มนำเอามาตรการปิดเมืองกลับมาใช้อีกครั้ง โดยยังคงต้องจับตาถึงผลกระทบของโอมิครอนในระยะต่อไป
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ รายงานการส่งออกเดือนธันวาคม 2564 ยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 24.2% คิดเป็นมูลค่า 24,930 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการส่งออกขยายตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญ และทุกตลาดสำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโอมิครอน เป็นผลจากการเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงปลายปีจากหลายประเทศ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Manufacturing PMI) ยังคงอยู่ในระดับมากกว่า 50 อย่างต่อเนื่อง