อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อทั่วโลก และความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม กรีนสแปนเชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงนั้นจะมีอยู่ไม่มาก
"ผมกังวลว่าเรากำลังจะออกจากยุคสมัยที่ปลอดเงินเฟ้อ แล้วก้าวเข้าสู่ทิศทางตรงกันข้าม" กรีนสแปนกล่าวในการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารภาคธุรกิจในกรุงโตเกียวผ่านการเชื่อมต่อสัญญาณจากกรุงวอชิงตัน
"ส่วนเรื่องค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลงนั้น ผมไม่คิดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเอียงไปในด้านลบเพียงด้านเดียวหรือด้านบวกเพียงด้านเดียว ผมมองว่าดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงอาจกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ แต่ผู้ส่งออกของสหรัฐจะได้ประโยชน์เพราะดอลลาร์ที่อ่อนตัวจะช่วยให้สินค้าสหรัฐสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น"
"แต่แนวความคิดที่ไม่ถูกต้องก็คือแนวความคิดที่ว่า ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเสมอไป" กรีนสแปนกล่าว
ทั้งนี้ กรีนสแปนกล่าวว่า ในระยะยาวนั้น เขาคาดว่าประสิทธิภาพการผลิตในจีนและในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะปรับตัวสูงขึ้น หากประเทศเหล่านี้รับเอาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจากประเทศที่พัฒนาแล้วมาใช้ ซึ่งจะช่วยให้มาตรฐานการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ กรีนสแปนกล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นร้อนแรงเหนือระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้น กำลังเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตลาดโลก พร้อมกับแนะนำผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางทั่วโลกว่า ไม่ควรมุ่งขจัดภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ แต่แนวทางที่ดีที่สุดคือการรักษาระบบการเงินให้ยืดหยุ่นเข้าไว้ สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--