นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา "The BIG ISSUE 2022:อนาคต CRYTO อนาคต THAILAND"ว่า กระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการสร้างเศรษฐกิจ โดยไม่กระทบกับระบบการเงินในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเติบโตมาโดยตลอด ดังนั้นการส่งเสริมสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต จึงต้องมีการพิจารณาแนวทางของประเทศต่าง ๆ และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทย ผ่านการดำเนินนโยบายในการกำกับดูและและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ โดยการพิจารณาเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะต้องยึดแนวทางที่ผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการลงทุนและสร้างแรงขับเคลื่อนในนวัตกรรมทางการเงิน ทำอย่างไรให้การซื้อขาย ระดมทุนผ่านไปสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์กับประเทศ
ปัจจุบันกรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการหารือถึงแนวทางในการปฏิบัติหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากบริบททางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งในระยะต่อไปจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น
นายอาคม กล่าวว่า การเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว รัฐบาลและกระทรวงการคลังในขณะนั้น เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับฟินเทค โดยเฉพาะพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายในการกำกับดูแล เพื่อให้แนวทางปฏิบัติหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในด้านนี้ครอบคลุมทุกส่วน รวมถึงต้องดูแลผู้บริโภคด้วย โดยเรื่องนี้กำหนดให้ ก.ล.ต. เป็นผู้ดำเนินการเรื่องบทบาทในการกำกับดูแล ส่วนกระทรวงคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างใกล้ชิด มีการหารือถึงแนวนโยบายเพื่อกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ส่งเสริมการประกอบธุรกิจ คุ้มครองผู้ลงทุน โดยยึดแนวทางการส่งเสริมแบบสมดุล
"ปีที่ผ่านมา อาจจะมีปัญหาในเรื่องการประชาสัมพันธ์กฎหมายภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ทั่วถึง ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นภาษีใหม่ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เป็นภาษีที่มีการจัดเก็บมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว และในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้มีการหารือเรื่องนี้กันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีข้อเสนอแนะดี ๆ เข้ามา โดยส่วนใหญ่อยากให้เป็นการส่งเสริม แนวนโยบายภาษีมี 2 แนวคือการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมใด ๆ ผ่านการลดหย่อน ยกเว้นแต่จะมีระยะเวลาจำกัด กับแนวทางไม่ส่งเสริมให้มีการใช้ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม กำลังหารือจะได้ข้อสรุปสิ้นเดือนนี้ เพื่อสรุปและกำหนดแนวทางการยื่นแบบภาษี" รมว.คลัง กล่าว
ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะดำเนินการใน 2 ส่วนคือ เก็บจากศูนย์การซื้อขาย และการระดมทุนผ่าน ICO ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ กรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ธปท., ก.ล.ต. และกระทรวงการคลังได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าดิจิทัลไทย และผู้ประกอบการต่าง ๆ เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากภาคเอกชน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดแนวทางการคำนวณภาษีให้สอดคล้องกับกฎหมาย เป็นธรรมและไม่สร้างความยุ่งยากให้ผู้มีเงินได้