หอการค้าฯ เผยของแพงทำตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคัก เงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 11 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 27, 2022 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หอการค้าฯ เผยของแพงทำตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคัก เงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 11 ปี

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดตรุษจีนปี 2565 มีเงินสะพัด 39,627.79 ล้านบาท อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปีนับตั้งแต่ปี 2555 ลดลง 11.82% จากปีก่อน และปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีปัจจัยกดดันสำคัญจากปัญหาราคาสินค้าแพง

"ปี 63 มีการระบาดของโควิด-19 คนยังไม่รู้จัก ก็กังวลกันมาก, ปี 64 คนรู้จักกันแล้วแต่ติดเชื้อสูง, ปี 65 การติดเชื้อไม่รุนแรงจึงคลายกังวล...บรรยากาศปีนี้เหมือนกับปีก่อนที่ไม่ค่อยคึกคัก แต่เหตุผลต่างจากปีก่อนที่กังวลเรื่องโควิด-19 แต่ปีนี้มาจากสภาพเศรษฐกิจบอบช้ำ ราคาสินค้าแพง คนไม่มีเงิน" นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวในการแถลงผลสำรวจ Chamber Business Poll ในหัวข้อ "ทัศนะและพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน และผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลตรุษจีน"
หอการค้าฯ เผยของแพงทำตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคัก เงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 11 ปี

การที่วงเงินสะพัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ลดลงจากปีก่อนราว 5 พันล้านบาท ส่งผลต่อการขยายตัวของจีดีพีราว 0.05% แต่ในช่วงเดียวกันรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง ก็พอจะช่วยทดแทนไปได้ แต่การลดวงเงินคนละครึ่งเหลือคนละ 1,200 บาท จากเดิม 1,500 บาท ทำให้เม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหายไป 1.8 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจหายไป 0.15-0.2%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ให้คลี่คลายได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดความเชื่อมั่น ก็เชื่อว่าระบบเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง ได้แก่ การออกมาตรการ Test and Go, การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร, การเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อเติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ

ส่วนปัญหาราคาสินค้าแพงนั้น มีสาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมันและค่าขนส่ง ซึ่งหากรัฐบาลมีมาตรการที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ก็จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายได้

ผลสำรวจยังพบว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2 หมื่นบาท จะได้รับผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และมีปัญหาหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถทนทานต่อภาระหนี้หากยังไม่มีรายได้เพิ่มได้อีกราว 18 เดือน แต่การเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงในขณะนี้ จะเป็นแรงกดดันเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจ และอาจทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเลิกจ้างได้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.5% อัตราเงินเฟ้อแยู่ที่ 2% และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรมีการพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 3


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ