คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 เห็นชอบแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ฉบับที่ 10 ปี 51-54 วงเงิน 27,699 ล้านบาท ของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อรองรับความต้องการพลังไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอของประชาชน โดยแหล่งเงินลงทุนมาจากรายได้ของ กฟน.จำนวน 11,698 ล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้เงินกู้ในประเทศ
พร้อมกันนี้ยังเห็นชอบให้ปรับลดแผนเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดินปี 51-56 จาก 7 โครงการ เหลือ 3 โครงการ วงเงิน 5,699 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการปทุมวัน จิตรลดา และพญาไท ระยะทาง 6 กิโลเมตร, โครงการพระราม 3 ระยะทาง 10.9 กิโลเมตร และ โครงการนนทรี 8.3 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 25.2 กิโลเมตร โดยใช้เงินลงทุนจากรายได้ กฟน.จำนวน 2,299 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้
"แผนการเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดินมีเงินลงทุนทั้งหมด 11,923 ล้านบาท แต่อีก 4 โครงการที่ได้ชะลอ เพราะไม่มีความพร้อม ได้แก่ โครงการรัชดาภิเษก-อโศก, รัชดาภิเษก-พระราม 9, สาทร และลุมพินี" นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นว่าภาระค่าไฟฟ้าที่เกิดจากการลงทุนเปลี่ยนสายอากาศเป็นสายใต้ดินนั้น ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับประโยชน์เรื่องความปลอดภัย ดังนั้นไม่ควรนำไปเฉลี่ยในอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ เพื่อกระจายภาระให้ผู้ใช้ไฟในพื้นที่อื่นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานควรพิจารณาแนวทางการกำหนดอัตราค่าไฟให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนในการวางระบบสาธารณูปโภคใต้ดินทั้งหมดร่วมกันโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงกำหนดให้บริษัทรับเหมาคนไทยได้มีโอกาสดำเนินงานร่วมกับผู้รับเหมาต่างชาติในกรณีที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เช่น ระบบการเจาะอุโมงค์วางสายไฟฟ้า เพราะทำให้คนไทยมีโอกาสเรียนรู้และนำไปพัฒนาความสามารถของประกอบการไทยในระยะยาวต่อไป
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/ธนวัฏ/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--