นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานสัมนาหัวข้อ "สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022" โดยได้กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายสายพันธุ์ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัย และการดำรงชีวิตของประชาชน ประกอบกับล่าสุดที่พบกับการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จึงยังคงเป็นความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องเผชิญต่อไป อย่างไรก็ดี มั่นใจว่ามาตรการทางสาธารณสุข และมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความร่วมมือของประชาชนทุกคน จะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัว และกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเริ่มมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จะเห็นได้จากการคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจของหลายสำนักที่ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น และจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนที่เพิ่มและครอบคลุม รวมถึงภาคการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
ในขณะเดียวกัน การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ในปี 65 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ยังคงขยายตัว 4-5% เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม (GDP) ยังคงขยายตัว 2.5-3.5% สะท้อนให้เห็นว่าทิศทางการฟื้นตัว และการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ อุตสาหกรรมคลังสินค้า ขนส่งสินค้า และโลจิสติกส์และที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมยาและเคมีภัณฑ์ และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นต้องเร่งปรับตัว ด้วยการปรับทิศทางกลยุทธุ์ธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม รวทั้งอาศัยจุดแข็งของประเทศไทยในการสร้างความได้เปรียบ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบสนองต่อความต้องการมากขึ้น การพัฒนาแรงงาน การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และการแสวงหาประโยชน์จากธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเป็นเทรนด์ในอนาคต รวมถึงการพัฒนาอุตสาหรรมที่เชื่อมโยงกับภาคบริการ เช่น ธุรกิจที่ตอบรับเทรนด์สุขภาพ เป็นต้น
นายสุริยะ กล่าวว่า ในส่วนของภาครัฐ จะทำหน้าที่ในการสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมุ่งเน้นนโยบายเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ ส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร พร้อมเร่งขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงต้องตอบสนองต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกด้วย ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งงแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นกฎกติกาการค้าใหม่ๆ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทรัพยากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่มุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน กระแสการดูแลสุขภาพ และด้านสุขอนามัย เป็นต้น
ดังนั้น นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป จึงมุ่งสู่การปรับโครงสร้างภาคเศรษฐกิจ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาบุคลากร ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัวให้ทันพลวัติของโลก
นายสุริยะ ยังได้กล่าวถึงหนึ่งในแนวทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่รัฐให้ความสำคัญ คือ การส่งเสริมการหมุนเวียนของเม็ดเงินเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือภาครัฐสนับสนุนการใช้งบประมาณของรัฐในการจัดซื้อสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand หรือพัสดุที่จัดทำขึ้น จำหน่ายโดยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ด้วยการออกกฎกระทรวง กำหนดพัสดุ และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2563
กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการผลักดันผู้ประกอบการของไทยทั่วประเทศ ส่งต่อผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าสู่ระบบการรับรอง Made in Thailand รวมถึงได้มีการเตรียมความพร้อมและยกระดับผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชนไทย เข้าสู่การรับรอง Made in Thailand ด้วย
สำหรับในระยะถัดไป กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวคิดที่จะขยายขอบเขตการส่งเสริมแนวทางดังกล่าว โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดซื้อเพิ่มมากขึ้น ผ่านการหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางความไปได้ที่ภาครัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนของภาคอุตสาหกรรมในการจัดซื้อพัสดุที่ได้รับการรับรองเป็น Made in Thailand Thai SME-GP รวมถึงการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการจัดซื้อในภาคเอกชน ซึ่งการสนับสนุนให้เกิดระบบการซื้อขายสินค้าในประเทศ จะเสริมสร้างการหมุนเวียนเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง ช่วยลดการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงทำให้เกิดเม็ดเงินสู่ระบบแรงงานไทยอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแนวทางการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยอุตสาหกรรมชุมชน ซึ่งรัฐได้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จ โดยสามารถยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนให้มีความเข้มแข็งด้วยการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (หมู่บ้าน CIV) ภายใต้แนวคิดหลักสร้างหมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรมวิถีชีวิต และอัตลักษณ์ชุมชน มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของชุมชนเชื่อมโยงกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่ยั่งยืน โดยปัจจุบันมีหมู่บ้านที่ผ่านการพัฒนาแล้วจำนวนกว่า 250 หมู่บ้าน
กระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีแผนในการต่อยอดการพัฒนาการสร้างเส้นทางท่องเที่ยวที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาลเชื่อมโยงหมู่บ้าน CIV แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ รวมถึงอุตสาหกรรมที่พัก อาหาร และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในชุมชน รวมไปถึงมีการพัฒนามัคคุเทศน์ท้องถิ่น เพื่อสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ และสร้างตลาดของฝากของที่ระลึกจากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งการบูรณาดังกล่าว จะทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอแนวทางดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการทำงานในการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยใช้มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่อไป
ในขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการการพัฒนาผ่านประเด็นการพัฒนาที่สำคัญทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ 1. การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพภายใต้มาตรการแผนปฎิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับหมุดหมายการพัฒนาตามรากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 ได้แก่ อุตสหกรรมอาหาร ชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ 3. การพัฒนาผู้ประกอบการภาคการผลิตไปสู่ 4.0 โดยสร้างพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ ส่งเสริม SMEs และวิสาหกิจชุมชน
4. การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชน การพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมการจัดการกาก เป็นต้น 5. การจัดตั้งและส่งเสริมการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ยึดโยงกับการพัฒนาพื้นที่ และ 6. การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการได้รวดเร็ว และการจัดทำ Big Data
"การเปลี่ยนแปลงไปสู่ศักยภาพใหม่ของประเทศไทยตามแนวทางข้างต้น ต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินการเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุดต่อประเทศ ซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง" นายสุริยะ กล่าว