ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ระดับ 47.2 จาก 49.0 ในเดือนก่อนหน้า จากองค์ประกอบด้านต้นทุน คำสั่งซื้อและปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายทั่วประเทศ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของทุกธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร ที่ดัชนีฯ ปรับลดลงจากองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อและการบริการเป็นสำคัญ
ขณะที่ในภาคการผลิต ดัชนีฯ ค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน โดยความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงานปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะกลุ่มผลิตยานยนต์ที่การขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายลงบ้าง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นด้านการผลิตที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน
ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปรับลดลงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนลดลงมาอยู่ในระดับต่ำมาก จากราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ระดับดัชนีฯ โดยรวมของทั้งภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิตยังอยู่สูงกว่าเดือน เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา
ขณะที่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 54.6 หลังจากที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน จากการปรับลดลงในองค์ประกอบด้านผลประกอบการ ต้นทุนและปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ โดยดัชนีฯ ของธุรกิจส่วนใหญ่ยังอยู่เหนือระดับ 50 ยกเว้นกลุ่มอสังหาฯ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่อง และกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ดัชนีฯ ลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 50 อีกครั้ง จากความเชื่อมั่นด้านการผลิตที่ลดลง เนื่องจากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์เป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการขนส่ง