ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดผลสำรวจผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI) ในระหว่างวันที่ 1-26 ม.ค.65 ว่า ในเดือน ม.ค.65 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยยังคงถูกกดดันจากปัญหาการขนส่งที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ กำลังซื้อที่อ่อนแอ และความกังวลการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคธุรกิจในภาคการค้าปรับดีขึ้นจากธุรกิจค้าปลีกยานยนต์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากงาน Motor Expo ในเดือน ธ.ค.64 ขณะที่ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารค่อนข้างทรงตัว
ขณะที่ ธุรกิจทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิตมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการขนส่งเพิ่มขึ้น ขณะที่กังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่อยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ส่วนหนึ่งมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดและอัตราการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้น รวมถึงความรุนแรงของเชื้อไวรัสที่ลดลง
การฟื้นตัวของระดับการจ้างงานโดยรวมปรับลดลงจากเดือนก่อน ทั้งในด้านจำนวนและรายได้แรงงานของทั้งภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต สอดคล้องกับการใช้นโยบายปรับเปลี่ยนการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาฯ และก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจโรงแรม และคลังสินค้า
ด้านสภาพคล่องของธุรกิจ สัดส่วนของบริษัทที่มีสภาพคล่องมากกว่า 6 เดือนเพิ่มขึ้นจากภาคการผลิตเป็นสำคัญ เช่น การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ธุรกิจที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 3เดือน ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มการผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย
ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นราคาใน 3 เดือนข้างหน้า ภาคธุรกิจมากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคบริการที่ต้นทุนยังไม่ปรับเพิ่มสูงเท่ากับภาคการผลิต และกลุ่มอสังหา ฯ และก่อสร้างที่กำลังซื้อยังเปราะบาง โดยธุรกิจที่ยังไม่ปรับราคา ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการอื่นแทนการปรับราคา เช่น การปรับลดโปรโมชั่น การลดปริมาณ ลดคุณภาพ หรือการออกสินค้ารุ่นใหม่ เพื่อเป็นการลดต้นทุน และบางส่วนสามารถแบกรับต้นทุนได้นานถึง 12 เดือน สำหรับธุรกิจที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มราคา ส่วนใหญ่คาดว่าจะปรับได้ไม่เกิน 10% ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจผลิตยางและพลาสติก ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น