นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มองว่า สถานการณ์ในปี 65 เป็นแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งต้องจับตาว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้หลายครั้งในปีนี้นั้น จะสร้างแรงกดดันส่งผ่านมายังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มากน้อยเพียงใด เพราะหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดกันๆ หลายครั้ง คงเลี่ยงยากที่ กนง.จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย
ดังนั้น สิ่งที่ ธอส.มีความเป็นห่วงมากที่สุด คือ ผลกระทบที่จะมีต่อเงินค่างวดในการชำระสินเชื่อ ที่อาจจะได้เห็นการปรับขึ้นเงินค่างวดในการชำระสินเชื่อเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ตามอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าว ธอส.จะพยายามปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ช้าที่สุด
"ตอนนี้ เป็นครั้งแรกที่ภาวะดอกเบี้ยทั่วโลกเป็นขาขึ้นพร้อมกัน ลูกค้าที่ชำระค่างวดอิงจากดอกเบี้ยคงที่ คงไม่ได้รับผลกระทบ แต่ที่ห่วงคือ ที่อิงจาก M จะกระทบแน่ เพราะเงินงวดต้องนำไปตัดดอกเบี้ยก่อน แล้วค่อยมาตัดเงินต้น คำถามคือ ถ้าช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น แล้วตัดดอกเบี้ยไม่พอเหลือตัดเงินต้น ก็คงต้องปรับเงินงวดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งการจะปรับขึ้นมาจากปัจจัยเดียว คือ การขึ้นดอกเบี้ยติดๆ กันในช่วงสั้นๆ ต้องตามดูว่า กนง.จะรับ effect โดยตรงจากเฟดหรือไม่" นายฉัตรชัยระบุ
อย่างไรก็ดี ธอส.ได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมข้อมูลเบื้องต้นไว้ ซึ่งหากนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นมีผลให้ ธอส.ต้องปรับขึ้นค่างวดสินเชื่อจริงนั้น อาจจะมีบัญชีที่ต้องปรับค่างวดเพิ่มประมาณ 35% ของจำนวนพอร์ต ซึ่งใน 35% นี้ แบ่งเป็นลูกค้าที่มีรายได้ประจำ 50% และลูกค้าที่ประกอบอาชีพอิสระ 50% โดยเฉลี่ยทุกเงินกู้ 1 ล้านบาท จะเพิ่มเงินงวดประมาณ 500 บาท ซึ่งการชำระเงินค่างวดที่อาจต้องปรับเพิ่มขึ้นอาจจะไม่มีผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำ แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ กลุ่มลูกค้าที่ประกอบอาชีพอิสระเพราะจะมีภาระเงินงวดมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการบรรเทาภาระให้กับผู้มีรายได้น้อย ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น ธอส. เตรียมวงเงินสินเชื่อ 8 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3 โครงการ ในปี 65 ประกอบด้วย 1.โครงการบ้านล้านหลังเฟส 2 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 1.99% 2.สินเชื่อของธนาคารเพื่อผู้มีรายได้น้อย 4 หมื่นล้านบาท และ 3.นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากออมทรัพย์ มาจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อโดยตรงในลักษณะเดียวกันกับ Peer-to-Peer Lending (P2P) วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท
นายฉัตรชัย ยังประเมินภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 65 ภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นว่า ในระหว่างที่อัตราดอกเบี้ยยังไม่ปรับขึ้นนี้ จะทำให้มีการเข้ามาในตลาดอสังหาฯ มากขึ้นกว่าปีก่อน ประกอบกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ เริ่มมีการลงทุนโครงการใหม่ๆ มากขึ้น หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ขณะเดียวที่ตลาดที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดเริ่มขยายตัวมากขึ้น มีการก่อสร้างโครงการในรูปแบบของ local brand คนในเมืองจะเริ่มปรับวิถีการใช้ชีวิตจากการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม ไปซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น ภายหลังจากระบบขนส่งมวลชนโดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่ขยายเส้นทางออกไปยังชานเมืองมากขึ้น ส่งผลดีต่อตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ จึงอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนมือของผู้ซื้อจากคอนโดฯ ไปสู่ที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น
"ปี 65 ฝั่งดอกเบี้ยที่กำลังจะเป็นขาขึ้นนี้ จะได้เห็นคนกลุ่มหนึ่งต้องการเข้ามาเพื่อที่จะ fix ดอกเบี้ย การกระโจนเข้ามาในตลาดสินเชื่อจะมีสูงกว่าปีก่อน และการที่เราเริ่มอยู่กับโควิดได้แล้ว ทิศทางดีขึ้น ผู้ประกอบการจากที่เคยขายของเก่า ก็จะมีการสร้างโครงการใหม่ ทำให้มีตัวเลือกมากขึ้น และคนเปลี่ยนการใช้ชีวิตจากอยู่คอนโดฯ ไปอยู่แนวราบ เพราะระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่แล้วเสร็จ ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบในชานเมืองจะโตมาก การเปลี่ยนมือจะสูง ตัวเลือก supply จะสูง เพราะมีทั้งสร้างใหม่, รีเซลส์, เปลี่ยนมือ การเปลี่ยนไปสู่บ้านแนวราบ" นายฉัตรชัย ระบุ