HOT ISSUE: กับดักระเบิดเวลาลูกใหญ่ส่อปะทุเศรษฐกิจไทยปีเสือ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 3, 2022 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะเต็มไปด้วยความหวังของการหวนกลับเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว โดยเริ่มเห็นพัฒนาการใน ทิศทางที่ดีขึ้น แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่คอยรุมเร้าเศรษฐกิจโลกในหลายมิติที่เป็นปัญหาลุกลามต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ไม่นับรวมกับปัญหาใหม่ที่ กำลังรอการปะทุ ทำให้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเต็มไปด้วยความเปราะบาง เชื่อมโยงมาถึงเศรษฐกิจไทยที่อาจต้องเผชิญ กับความท้าทายจากการพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ยังไม่รวมถึงอุปสรรคที่เป็นกับดักเชิงโครงสร้างระยะยาวอีกหลายด้าน จึงเป็นสิ่งที่น่า เฝ้าระวังว่าระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ซุกใต้พรมเศรษฐกิจไทยในเวลานี้จะปะทุสร้างความเสียหายระลอกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 หรือไม่และจะมีผลกระทบตามมาอย่างไร ??

*เฝ้าระวัง 3 ปัจจัยเสี่ยงสะเทือนทั่วโลก

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ให้สัมภาษณ์กับ "อินโฟเควสท์" ว่า 3 ปัจจัยเสี่ยงหลักที่จะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกปี 2565 ประกอบด้วย

ความเสี่ยงแรก คือ สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาไปเป็นสายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอน แม้ว่าจะแสดง อาการไม่รุนแรงมากและมีแนวโน้มจะกลายเป็นเพียงโรคประจำถิ่น แต่การระบาดโควิด-19 ก็นับเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากการกระจายวัคซีนที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ยังไม่สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่ ความเหลื่อมล้ำในภาคการผลิตและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

และนอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่แล้ว ความเสี่ยงที่ตามมาคือ การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ เป็นผลกดดันต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ต้องทำหน้าที่ควบคุมภาวะเงินเฟ้อ พร้อมทั้งต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ ทำให้เฟดเริ่มปรับลดวงเงินผ่านมาตรการ QE ก่อนจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปี 2565 นี้

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือการควบคุมนั้นก็คือ ความเข้มข้นของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ของโลก เช่น ความสัมพันธ์ระ หว่างรัสเซียกับยูเครน และจีนกับไต้หวัน เป็นต้น อาจนำมาสู่การใช้มาตรการคว่ำบาตรประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคง มองว่าโลกในปัจจุบันต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เช่น ประเทศฝั่งยุโรปก็ยังต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติของรัสเซีย ดังนั้น จึงเป็นอีกหนึ่ง ประเด็นที่น่าจับตามองว่าแต่ละประเทศจะมีนโยบายรับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร

*ระเบิดเวลาส่อปะทุเศรษฐกิจไทยปีเสือ

นายกอบสิทธิ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 ฝ่ายวิจัยฯจะคาดการณ์ว่าตัวเลข GDP จะเติบโตในกรอบ 2.8-3.7% แต่อยู่ภายใต้สมมติฐานว่ายังสามารถพึ่งพาการลงทุนจากภาครัฐ และมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น โครงการคน ละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน รวมไปถึงความเชื่อมั่นจากภาครัฐที่ว่าจะไม่ให้เกิดการล็อกดาวน์แบบเดิมเป็นแรงผลักดันกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ภาคการส่งออกที่เป็นรายได้หลักของประเทศ เบื้องต้นคาดว่าปีนี้ภาคการส่งออกจะ ขยายตัวเพียง 3-4% เท่านั้น เนื่องจากฐานสูงในปีที่แล้ว ซึ่งขยายตัวไปเกือบ 15% เช่นเดียวกับรายได้จากการท่องเที่ยว ที่ถึงแม้ว่าจะยัง ไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็คาดหวังว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก เพราะประเทศไทยมีตลาดแรงงานภาคการท่องเที่ยวค่อนข้าง ใหญ่

*รอลุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นเหมือนก่อนโควิดได้ในปี 67

สำหรับตัวเลขที่หลายหน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจคาดการณ์กันกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกลับไปเป็นเหมือนช่วง ก่อนเกิดโควิด-19 คงต้องรอไปถึงไตรมาสแรกของปี 2566 แต่หากพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศไทยเมื่อปี 2562 ที่มีมาก ถึง 40 ล้านคน ขณะที่ในปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพียงแค่ 20 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้น จึงมองว่าการที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไป เป็นเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ยังเป็นไปได้ยาก

ประกอบกับ การสำรวจความคิดเห็นของผู้ทำธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลก จากหน่วยงาน World Tourism Organization (UNWTO) พบว่ามีประชากรจำนวนเพียงแค่ 8% ที่คาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับไปเหมือนเดิมได้ในปี 2565 และอีก 39% ที่คาดว่าการท่อง เที่ยวจะกลับไปเหมือนเดิมได้ในปี 2566 และส่วนที่เหลืออีกมากกว่า 50% มองว่าการท่องเที่ยวจะกลับไปเหมือนเดิมได้ในปี 2567

"แม้ว่าในอนาคตแต่ละประเทศจะจัดการเรื่องโควิด-19 ได้ แต่ส่วนใหญ่รัฐบาลก็อยากให้คนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศตัว เองก่อน ไม่ให้เม็ดเงินรั่วไหลไปในประเทศอื่น หรืออย่างบางประเทศที่ใช้นโยบายโควิดเท่ากับศูนย์ เช่น จีน ก็มีมาตรการห้ามไม่ให้ ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ ดังนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวยังถูกกดดันจากปัจจัยหลายอย่าง จึงประเมินว่าปี 66 ยังเร็วไปที่จะเห็นการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่จะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 คิดว่าอาจจะต้องรอถึงปี 67 ซึ่งระหว่างนี้ภาครัฐเองก็ต้องดำเนินการแก้ ปัญหาต่าง ๆ ไปด้วย" นายกอบสิทธิ์กล่าว

*แนะรัฐเร่งจับมือ FTA ประเทศกำลังซื้อสูง

ส่วนแนวทางอยากเห็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจช่วงนี้ คือภาครัฐควรต้องเร่งกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติ เช่น ผลักดัน การทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) กับกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่มีพร้อมทั้ง กำลังแรงงาน มีความสามารถในการผลิตสินค้าโดยใช้ต้นทุนต่ำ และมีความสามารถส่งสินค้าที่ผลิตไปยังประเทศที่สามโดยไม่เจอกำแพง ภาษี ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติได้

"หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กระทรวงต่างประเทศหรือกระทรวงพาณิชย์ ควรจะต้องเร่งเจรจาเรื่อง FTA กับประเทศที่มีกำลังซื้อสูง เพราะถ้าลดอุปสรรคเรื่องกำแพงภาษีได้ ก็จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ เพราะการเซ็น FTA จะนำไป สู่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่สูงขึ้น ก็จะเกิดการตั้งโรงงานมากขึ้น เกิดการจ้าง งานมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งการบริโภคภายในประเทศและการถ่ายทอดเทคโนโลยี นำไปสู่การฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจระยะสั้น ยกตัวอย่าง เวียดนาม ก็กระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติ ด้วยการไปเซ็นสัญญา FTA กับหลายประเทศเช่นกัน" นายกอบสิทธิ์ กล่าว

*หนี้ครัวเรือน-สังคมผู้สูงอายุ กับดักระเบิดเวลาลูกใหญ่

นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 แต่เมื่อมองภาพใหญ่จะพบปัญหาที่เป็นกับดัก ระยะยาว นั่นคือ "ปัญหาหนี้ครัวเรือน" ภาครัฐต้องตระหนักถึงการแก้ไขปัญหานี้ เพราะแม้ว่าในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพยายามหาวิธีรับมือหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ หรือ หมอหนี้ เป็นต้น แต่ระดับหนี้ครัวเรือนในไทยยังคงสูงถึง 80- 90% ต่อ GDP นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวกำลังซื้อของคนไทย และยังต้องรอการแก้ปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เช่นเดียวกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกมองข้าม คือ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" และจำนวนประชากรใน อนาคตมีแนวโน้มลดลง เป็นข้อจำกัดการเติบโตการบริโภคในประเทศ สะท้อนได้จากกรณีที่บริษัทค้าปลีกข้ามชาตัยักษ์ใหญ่ อย่าง คาร์ฟูร์ อิ เซตัน หรือ โตคิว ที่ต้องยุติการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวยังเพิ่มภาระให้กับภาครัฐที่ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อมาดูแลคนในวัยเกษียณ สวนทางกับรายได้จาก การเก็บภาษีที่จะลดน้อยลง ส่งผลให้งบประมาณจะขาดดุล และอาจจะต้องกู้เงินมากขึ้นอีกด้วย

และแม้ว่าภาครัฐจะส่งเสริมการมีบุตรด้วยการให้สิทธิด้านภาษี แต่ยังเป็นแรงจูงใจที่ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะการมีบุตร 1 คน ต้องใช้เงินค่อนข้างสูง อาจจะต้องมีการส่งเสริมเม็ดเงินจำนวนมากกว่านี้ รวมไปถึงต้องสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เช่น ศูนย์ Day Care ดูแลเด็กประจำวัน เพื่อให้วัยแรงงานสามารถประกอบอาชีพและมีบุตรได้

"อีกหนึ่งอุปสรรคของประเทศไทยที่เป็นปัญหาฝังลึกมากขึ้นทุกปีนั้นคือปัญหาขาดแคลนแรงงาน เราเห็นอย่างชัดเจนว่าในโรง งานหรือภาคการก่อสร้าง ถ้าเราไม่ได้แรงงานที่มาจากต่างชาติ ก็ไม่รู้ว่าเราจะสร้างของพวกนี้ได้หรือไม่ ดังนั้น ถ้าเราไม่เริ่มแก้ไขวันนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างก็จะฝังลึก และเมื่อเราใช้เครื่องมือดูแลเศรษฐกิจ เช่น การลดดอกเบี้ย ใช้นโยบายการคลัง เช่น โครงการช้อปดีมี คืน แต่ไม่ได้ไปแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างจริง ๆ ผลลัพธ์ที่ออกมาประชากรไทยก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ"นายกอบสิทธิ์ กล่าว

https://youtu.be/i3uxK-HRFes


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ