นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้กรมฯ ติดตามสถานการณ์และโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการของไทย โดยกรมฯ ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ล่าสุด ได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงแนวโน้มสำคัญที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางของจีน และโอกาสทางการค้า การส่งออกสินค้าเครื่องสำอางของไทยเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งเว็บไซต์ CBN Data ได้เปิดเผย 11 แนวโน้มสำคัญที่มีผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางจีน ได้แก่
1. ความปลอดภัยในเครื่องสำอางเด็ก ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 คณะกรรมการอาหารและยาของจีน ได้ออกข้อกำหนดในการจัดการคุณภาพการผลิตเครื่องสำอางเด็กอย่างเข้มงวด หากมีการกระทำผิดจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง และตั้งแต่ 1 พ.ค. 65 เครื่องสำอางเด็กที่ขอขึ้นทะเบียน จะได้รับโลโก้พิเศษ Xiaojindun เพื่อการันตีคุณภาพและความปลอดภัย
2. วัตถุดิบที่นำมาผลิตเครื่องสำอางทุกชนิดต้องขึ้นทะเบียน เพื่อให้สามารถติดตามที่มาของวัตถุดิบและติดตามตัวผู้ผลิต
3. การแข่งขันด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ที่หลายแบรนด์หันมาลงทุนมากขึ้น
4 .สินค้าเครื่องสำอางประเภทชะลอวัย (Anti-aging) มีการเติบโตเพิ่มขึ้น และมีการขึ้นทะเบียนมากที่สุดในปี 2563 เกือบ 5,000 รายการ
5. น้ำหอม เครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก มีแนวโน้มเติบโต คาดว่าในปี 68 จะมีมูลค่าถึง 5.4 แสนล้านหยวน
6. การแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในตลาดจีนสูงขึ้น แบรนด์ขนาดกลางและเล็กปิดตัวลงถึง 26 กิจการในปี 64 และปี 65 คาดว่าจะปิดตัวน้อยลง และมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้น
7. การระดมทุนของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
8. การใช้ Virtual Influencer ในการทำกิจกรรมโปรโมตสินค้า
9. การขายออนไลน์และออฟไลน์เริ่มชะลอตัว
10. Douyin ยังคงเป็นช่องทางการทำการตลาดหลักของเครื่องสำอาง และในปัจจุบันแพลตฟอร์ม Douyin มีร้านค้าบนแพลตฟอร์มกว่า 600 ล้านร้านค้า
11.แบรนด์หันมาจัดไลฟ์สดเอง แทนการจ้าง KOL
ด้านนางสาวอรนุช วรรณภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว กล่าวว่า ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในจีนมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากการควบคุมคุณภาพของสินค้าที่เข้มงวดขึ้น แต่ความต้องการสินค้าเครื่องสำอางในจีนยังมีช่องว่างที่สามารถเติบโตได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องสำอางประเภทชะลอวัย เครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย สินค้าน้ำหอม หรือผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก เป็นต้น
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่จะศึกษา 11 แนวโน้มสำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางนี้ เพื่อพัฒนาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคจีน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า อีกทั้งยังต้องศึกษาขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าเครื่องสำอางในจีนอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อลดอุปสรรคในการนำเข้าสินค้าสู่ประเทศจีน