นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้เตรียมเสนอร่างกฎกระทรวงที่จะบังคับใช้ภายหลัง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง มีผลบังคับใช้ เพื่อให้คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พิจารณาในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง
ทั้งนี้ หากคณะกรรมาธิการฯ เห็นชอบคาดว่าจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาในวาระ 2 และ 3 ภายในสิ้นเดือนธ.ค.นี้ และกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ทันรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน
กฎกระทรวงที่จะออกมานี้ได้กำหนดประเภทธุรกิจที่ควบคุมภายใต้กฎหมายดังกล่าวชัดเจน 4 ประเภท ได้แก่ 1.ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ดิสเคาน์สโตร์ และแคชแอนด์แครี่ โดยสถานที่ตั้งต้องมีระยะห่างจากตัวเมืองไม่น้อยกว่า 12 กิโลเมตร ความหนาแน่นประชากร ไม่เกิน 100,000 คน ระยะเวลาเปิด-ปิดไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน
2.ซุปเปอร์มาร์เก็ต ต้องห่างจากตัวเมืองไม่เกิน 5 กิโลเมตร ความหนาแน่นของประชากร ไม่เกิน 50,000 คน ระยะเวลาเปิด-ปิดไม่เกิน 12 ชั่วโมง และ 3.ดิสเคาน์-คอนวีเนี่ยนสโตร์ หรือเอ็กซ์เพรส ต้องห่างจากตลาดสดไม่น้อยกว่า 500 เมตร ความหนาแน่นของประชากร 1,000 คน ระยะเวลาเปิด-ปิดไม่เกิน 15 ชั่วโมง
ส่วน 4.ร้านสะดวกซื้อ ไม่กำหนดระยะห่างจากตัวเมือง แต่กำหนดความหนาแน่นของประชากร ไม่น้อยกว่า 3,000 คน และไม่กำหนดระยะเวลาเปิด-ปิด
นอกจากนี้จะเสนอประเภทธุรกิจที่ยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้เพิ่มเติมเป็น 20 ประเภท เช่น ร้านขายเสื้อผ้า, รองเท้า,แว่นตาและนาฬิกา, เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์, เครื่องนอน, คอมพิวเตอร์และมือถือ, อุปกรณ์ก่อสร้าง, เครื่องสำอาง, เสื้อผ้ากีฬา, ดอกไม้และไม้ประดับ, เครื่องสุขภาพ จากเดิมเพียง 7 ประเภท เช่น ร้านขายยา, ร้านขายหนังสือ, ร้านขายของที่ระลึก, ร้านอาหารปรุงสำเร็จ เป็นต้น ซึ่งโดยธุรกิจเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--