นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในส่วนของการพัฒนารถไฟของประเทศไทยเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟของลาว-จีนว่า ในส่วนการเชื่อมต่อจากหนองคาย-เวียงจันทน์ ระยะทาง 16 กม. เป็นการดำเนินงานในระยะที่ 3 ซึ่งจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ได้มีการเจรจา 3 ฝ่าย คือไทย-ลาว-จีน ได้ข้อยุติเบื้องต้นแล้วว่าฝ่ายไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าสำรวจออกแบบ วงเงินประมาณ 140 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอขอใช้งบกลางในการดำเนินการ
โดยได้มอบหมายให้กรมทางหลวง(ทล.) เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ดำเนินการโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขง มาแล้ว 6 แห่ง ซึ่งสะพานแห่งนี้จะถือเป็นสะพานมิตรภาพแห่งที่ 7 ซึ่งเดิมวงเงินลงทุนก่อสร้างสะพานอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท รองรับระบบรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ล่าสุดเห็นว่าควรรองรับรถยนต์ พร้อมโครงข่ายถนนเชื่อมต่อสะพาน ทั้งฝั่งไทยและถนนเชื่อมต่อในฝั่งสปป.ลาว คาดว่าค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น ส่วนเงินลงทุนก่อสร้างนั้น ไทยและลาวจะออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง
ในส่วนความคืบหน้าของโครงการ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาทอยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356.10 กม. จะสรุปผลการศึกษาและออกแบบ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ขออนุมัติได้ประมาณกลางปี 2565
จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการประกวดราคาก่อสร้างงานโยธา ซึ่งแผนแล้วเสร็จในปี 2572 โดยตนให้นำปัญหาอุปสรรค ของการออกแบบ และการก่อสร้างงานโยธาของเฟสที่ 1 มาเป็นบทเรียน แก้ไขในการดำเนินงานในเฟสที่ 2 ไม่ให้เกิดซ้ำอีก
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ขณะนี้ทล.ได้วางแผนงานในการออกแบบก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟไทย-จีน เฟส 3 ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ตั้งอยู่ทางทิศตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวประมาณ 30 เมตร โดยจะเสนอกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์หน้าเพื่อเสนอ ครม.ขออนุมัติงบกลางประมาณ 140 ล้านบาทในการจ้างศึกษาออกแบบ และคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี
โดยรูปแบบเดิม จะเป็นสะพานทางรถไฟมาตรฐาน 1.435 เมตร(รองรับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) และขนาดทาง 1 เมตร(รองรับรถไฟทางคู่) ล่าสุด ปรับเพิ่มส่วนของถนนรองรับรถยนต์ด้วย ซึ่งในการศึกษาออกแบบจะต้องหารือกับสปป.ลาว ในการวางโครงข่าย ถนนเชื่อมในฝั่งลาว ที่มีศูนย์โลจิสติกส์ที่ท่านาแล้ว ส่วนไทยมีย่านสินค้าที่สถานีนาทา จึงควรออกแบบโครงข่ายทั้งรถไฟ และถนนให้เชื่อมกัน
ทั้งนี้ ทล. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้หารือเบื้องต้นเรื่องรูปแบบของสะพานที่เพิ่มส่วนรองรับรถยนต์เข้าไป คาดว่าค่าก่อสร้างประมาณ 4,000 ล้านบาท
"กระทรวงฯมอบหมายให้กรมทางหลวงศึกษาการวางโครงข่ายช่วงสะพานข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งจะมีระบบรถไฟความเร็วสูงรถไฟทางคู่ ระบบอาณัติสัญญาณและสะพานสำหรับระยนต์และโครงข่ายถนนและระบบเก็บค่าผ่านแดน ระบบด้านความปลอดภัย ทั้งหมด ส่วนโครงสร้างจะเป็นลักษณะสะพานรถไฟด้านล่าง และมีถนนซ้อนอยู่ด้านบน อยู่ที่การสำรวจออกแบบรายละเอียด"