กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.75-33.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.99 ต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 32.95-33.48 โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ขึ้นดอกเบี้ย 25bp สู่ 0.50% ด้วยมติ 5 ต่อ 4 โดยสมาชิก 4 รายโหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย 50bp สู่ระดับ 0.75% เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้บีโออีจะเริ่มต้นลด QE ลงจาก 8.95 แสนล้านปอนด์ และจะลดขนาดการถือครองหุ้นกู้ลงจาก 2 หมื่นล้านปอนด์
ขณะที่เงินยูโรพลิกฟื้นจากจุดต่ำสุดในรอบ 20 เดือนสู่ระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ หลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศคงนโยบายตามคาดแต่ยอมรับความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและเปิดช่องไว้สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ โดยอีซีบียืนยันลำดับขั้นของการดำเนินนโยบาย โดยโครงการซื้อสินทรัพย์จะต้องยุติลงก่อนที่จะขึ้นดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจ้างงานและการเติบโตของค่าจ้างเดือน ม.ค.ของสหรัฐฯ ที่สดใสเกินคาดช่วยหนุนบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ท้ายสัปดาห์ ทางด้านสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวผันผวน ส่วนราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 7 ปี ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 2,280 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 2,267 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ม.ค.ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางการคุมเข้มนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต่อไป
อนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่าโมเมนตัมเชิงบวกของค่าเงินดอลลาร์กำลังแผ่วลงขณะที่ตลาดรับข่าวแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ไปมากพอสมควรแล้ว ในขณะเดียวกันธนาคารกลางชั้นนำแห่งอื่นๆ นอกสหรัฐฯเริ่มปรับนโยบายเช่นกัน โดยการวิ่งขึ้นของค่าเงินยูโรสะท้อนการปรับท่าทีอย่างมีนัยสำคัญของอีซีบีซึ่งเป็นธนาคารกลางที่ตลาดเคยคาดไว้ว่าจะเป็นรายท้ายๆของโลกที่จะปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาบอนด์ยิลด์ระยะ 2 ปีและ 10 ปี ของเยอรมันพุ่งขึ้น 35bp และ 25bp ตามลำดับ
สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน ม.ค.เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดรอบ 9 เดือนที่ 3.23% เมื่อเทียบรายปี แต่เป็นผลของต้นทุนด้านพลังงานเป็นสำคัญ ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.52% ขณะที่กระแสข่าวที่ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดไม่ล็อกดาวน์แต่ใช้ชีวิตร่วมกับโรค น่าจะส่งผลบวกต่อ Sentiment ค่าเงินบาท