นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐคาดหวังว่าจะเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมุ่งหวังที่จะผลักดันไทยก้าวเข้า Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนอกจากจะช่วยดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศแล้ว ยังเพิ่มการจ้างงาน และเชื่อมโยงไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก
Krungthai COMPASS มองว่า องค์ประกอบสำคัญที่ภาครัฐวางไว้ให้ขับเคลื่อนการเป็น Medical Hub ของไทย ได้แก่ 1. ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Service Hub) 2. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 3. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ (Product Hub) และ 4. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)
"การเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็น 2 ใน 4 องค์ประกอบสำคัญที่ไทยมีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะพัฒนาและยกระดับได้เร็ว รวมทั้งมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น และเป็นเทรนด์ที่จะสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ของโลกในอนาคต ทั้งยังสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่องค์ประกอบที่เหลือได้ ซึ่งจะช่วยให้การเป็น Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบของไทยมีความเป็นไปได้มากขึ้น" นายพชรพจน์ กล่าว
ด้าน น.ส.สุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือ
1. การต่อยอดอุตสาหกรรมยาจากผู้ผลิตยาชื่อสามัญ สู่ฐานการผลิตในอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ซึ่งเป็นเทรนด์การผลิตยาที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโลกสูงถึง 5.47 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 70 หรือเติบโตเฉลี่ย 10.6% ต่อปี
2. การยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย BCG Model ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้มากขึ้น และจะส่งผลให้มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมนี้ของไทยมีโอกาสแตะระดับ 3.38 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่าแสนล้านบาท ในปี 70 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 8.1% ต่อปี เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากปี 62 และสูงกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของตลาดโลก
3. การชูจุดเด่นด้านบริการทางการแพทย์เพื่อมุ่งสู่การเป็น World Class Medical Service Hub ซึ่งคาดว่ามูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง แตะระดับ 7.6 แสนล้านบาทในปี 70 หรือเติบโตเฉลี่ย 13.2% ต่อปี
"ปัจจุบันส่วนแบ่งในตลาดโลกของ 3 อุตสาหกรรมการแพทย์สำคัญของไทยยังไม่มากนัก จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก หากสามารถยกระดับให้ได้มาตรฐานระดับโลก ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี ภายในปี 70 นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดการการนำเข้ายาและเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศด้วย ที่สำคัญจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของรัฐ และก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืน" น.ส.สุจิตรา กล่าว
อย่างไรก็ดี Key Success สำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ เพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็น Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ ได้แก่
1. การสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในด้านการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน การสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัย การส่งเสริมการลงทุน และการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี รวมถึงการออกนโยบายสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ผลักดันผ่านมาตรการและนโยบายต่างๆ บ้างแล้ว เช่น การส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI (The Board of Investment of Thailand) การสนับสนุนแผนลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มาตรการขยายเวลาพำนักในไทย กรณีเข้ามารักษาพยาบาล
2. การสร้าง Health Ecosystem ให้เป็นรูปธรรม และผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem อย่างเป็นระบบ เนื่องจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเน้นการศึกษาวิจัยที่ซับซ้อนที่ใช้ระยะเวลาและเงินลงทุนจำนวนมาก จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะศึกษาวิจัย คิดค้น รวมถึงให้คำปรึกษา และมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ได้
3. การลงทุนจากภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทั้งในภาคการผลิตยา เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และภาคบริการทางการแพทย์ จะเป็นตัวเร่งสำคัญในการหนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ได้เร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากบริษัทเอกชน มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ทรัพยากร และเงินลงทุน ที่จะส่งเสริมให้การพัฒนาด้านต่างๆ สามารถเกิดได้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งกลุ่มทุนต่างๆ ที่สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ และกลุ่ม Health Tech Startup ที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม จะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขัน ลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ และต่อยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ให้ใหญ่ขึ้นอีกด้วย
4. การผสานเทคโนโลยีกับนวัตกรรมทางการแพทย์ ผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องติดตาม และนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่มาใช้ เพื่อให้ทัดเทียบระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการบริการทางการแพทย์ที่มีวิวัฒนาการการแพทย์สมัยใหม่ เช่น การแพทย์แม่นยำหรือการแพทย์เฉพาะเจาะจง (Precision Medicine) เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมหรือการแพทย์เชิงฟื้นฟู (Regenerative Medicine) มาให้บริการด้านการรักษาพยาบาล เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการจากทั่วโลกมาใช้บริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของไทย ซึ่งไทยมีจุดเด่นในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์อันดับต้นๆ ของโลก ประกอบกับไทยมีชื่อเสียง มาตรฐานการรักษา และการบริการที่ดี
น.ส.สุจิตรา ได้กล่าวถึง กรณีการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และประเทศซาอุดีอาระเบีย มองว่าเป็นการเปิดโอกาสในอุตสาหกรรม Medical Hub ของไทยมากขึ้น และจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากประเทศซาอุดีอาระเบีย มีค่าใช้จ่ายเชิงการแพทย์ต่อคนค่อนข้างสูง