นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนม.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.8 ในเดือนธ.ค. 64 โดยด่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด-19 ในช่วงต้นปี 63 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ
ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ยังขยายตัว สะท้อนจากคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังดำเนินต่อไปได้ แม้จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในช่วงเดือนม.ค. แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและประชาชนทำให้สถานการณ์การระบาดไม่รุนแรงเหมือนกับช่วงก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังเผชิญกับแรงกดดันจากตันทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาพลังงานและค่าขนส่ง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบและสินค้านำเข้า ขณะที่ปัญหาการขาคแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ยังไม่คลี่คลาย
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 96.4 จากระดับ 95.2 ในเดือนธ.ค. 64 เนื่องจากสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไม่รุนแรง และอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยฟื้นตัว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดว่า เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมีทิศทางดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และนโยบายเปิดประเทศ รวมถึงการขยายตัวของภาคการส่งออก
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,335 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนม.ค. 65 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 70.1%, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 45.5%, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 43.8% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 42.6% ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ 60.1%, เศรษฐกิจในประเทศ 50.2% และสภาวะเศรษฐกิจโลก 41.0% ตามลำดับ
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ
1. ขอให้ภาครัฐควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน อาทิ มาตรการลดค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า) ลดราคก๊าซหุงต้ม และการเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง
2. ขอให้ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท รวมทั้งการแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาสูง เพื่อลดภาระด้านต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ
3. เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยพื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19
4. ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ โดยปรับมาตรการ Test&Go ให้ลดจำนวนครั้งการตรวจ RT-PCR ให้เหลือเพียงครั้งเดียว และให้ใช้วิธีการส่งผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ผ่านระบบ หลังการเดินทางเข้าประเทศ 5 วัน แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง
"บ้านเราเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทำอย่างนี้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวด้านท่องเที่ยว แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นแต่ยังสู้ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมไม่ได้" นายสุพันธุ์ กล่าว
ส่วนกรณีผู้ประกอบการขนส่งเรียกร้องขึ้นค่าขนส่งนั้น ประธาน ส.อ.ท. เชื่อว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าโดยรวม เพราะต้นทุนจากค่าขนส่งจะมีสัดส่วนราว 10% หากผู้ผลิตปรับราคาก็เป็นภาระต่อผู้บริโภค ตราบใดที่ยังมีความต้องการซื้ออยู่ก็ยังสามารถผลิตสินค้าต่อไปได้ แต่หากผู้บริโภคซื้อไม่ไหวก็จะส่งผลย้อนกลับมายังผู้ผลิต และผู้ประกอบการขนส่ง ขณะที่ภาครัฐคงต้องลงมาดูว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่แนวทางที่ดีสุด คือการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้นเพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอย
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ เห็นว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพอย่างนี้มาตลอด แต่สิ่งสำคัญรัฐบาลจะทำอย่างไรให้เป็นเอกภาพ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ขณะที่ภาคเอกชนมุ่งที่จะดูแลเศรษฐกิจเป็นหลัก
"ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ บางทีภาคเอกชนก็ชอบ ทำให้เงินสะพัด อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เลือกตั้งแล้วอยากเห็นความเป็นเอกภาพทางการเมือง รัฐบาลใหม่ทำได้แค่ครึ่งหนึ่งจากที่หาเสียงไว้ก็พอ" นายสุพันธุ์ กล่าว
ด้านนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นว่า คิดว่าคงเป็นสถานการณ์ระยะสั้น เพราะในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ไม่มีการลงทุนเพิ่ม เพราะความต้องการใช้ลดลง พอเศรษฐกิจฟื้นตัวมีความต้องการเพิ่มขึ้นก็เกิดภาวะไม่สมดุล และเมื่อมีสถานการณ์ตึงเครียดกรณีรัสเซียกับยูเครน ประเทศในสหภาพยุโรปก็กักตุนไว้ใช้หากขาดแคลน ซึ่งขณะนี้หลายประเทศกำลังเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อคลี่คลายสถานการณ์