ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนม.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 44.8 จากเดือนธ.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.2 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 38.7, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 41.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 54.4
ปัจจัยลบที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนม.ค.ลดลง ได้แก่ 1.ความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยว อีกทั้ง ศูนย์บริหารสถานการร์โควิด-19 (ศบค.) ยังยกเลิกระบบ Test&Go เป็นการชั่วคราว 2. ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง 3. ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น 4. ความกังวต่อเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 5.เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น
ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ 1.กระทรวงการคลัง ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 ขยายตัว 1.2% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ 1.0% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวที่ระดับ 4% 2. ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน 7 มาตรการ 3. การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของทั้งโลกที่เป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น 4.การส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.64 ขยายตัว 24.18% ส่งผลให้ทั้งปี ขยายตัวได้ 17% และ 5.ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกร และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.65 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความวิตกกังวลมากเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่อาจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันในประเทศไทยจะเริ่มมีแนวโน้มลดลง
รวมถึงการยกเลิกมาตรการเปิดประเทศภายใต้ระบบ Test&Go อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยลง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงไร
"เดือนก.พ.กลุ่มตัวอย่างอาจจะมีความกังวลมากขึ้น จากทั้งสถานการณ์ระบาดของโอมิครอน และปัญหาราคาสินค้าแพง โดยเฉพาะราคาหมู และราคาน้ำมัน ต้องรอดูว่าความเชื่อมั่นจะทรุดลงไปมากหรือไม่ เพราะก็ยังมีปัจจัยบวกที่อาจจะช่วยหนุนไว้ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่กลับเข้ามา โดยเฉพาะคนละครึ่ง เฟส 4 และการกลับมาเปิด Test&Go ได้อีกครั้ง" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ จะยังไม่ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 โดยยังคงไว้ตามเดิมที่ 3.5-4% ซึ่งมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้ ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่สามารถคลี่คลายลงได้ภายในเดือนมี.ค. และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาหลังการเปิดระบบ Test&Go อีกครั้ง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น เชื่อว่าเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวจากผลกระทบของราคาสินค้าและราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อของไทยในช่วงครึ่งปีแรก ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.5-3.5% รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนว่าจะมีแนวโน้มคลี่คลายลงหรือไม่ เพราะถ้าคลี่คลายได้ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่สูงเกินไปกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่หากไม่สามารถคลี่คลายได้ อาจจะทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงไปถึง 120 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับราคาที่ส่งผลกระทบทางจิตวิทยา
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกจะปรับขึ้นราคาค่าขนส่งอีก 20% ว่า ปกติแล้วต้นทุนค่าขนส่งจะมีสัดส่วน 15-20% อยู่ในราคาสินค้า ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะขอปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 20% ก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น 3-4% แต่หากปรับขึ้นค่าขนส่ง 10% จะทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น 1-2%
"อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น และเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และจะไม่เป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะคาดว่าทั้งปี อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%" นายธนวรรธน์ ระบุ
สำหรับสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะเสถียรภาพของรัฐบาลนั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากจะมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การยุบสภา ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นได้ และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพียงแต่คนจะติดตามว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล และดูความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลในด้านต่างๆ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือ การชุมนุมประท้วงนอกสภา ซึ่งหากสถานการณ์มีความรุนแรงจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้นั้น ก็อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้มากกว่า
"ถ้าจะยุบสภาในไตรมาส 1 และมีการเลือกตั้งตามมา ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลในด้านลบต่อระบบเศรษฐกิจ...สิ่งที่น่ากังวล และกระเทือนต่อเศรษฐกิจมากกว่า คือ การชุมนุมประท้วงนอกสภา จนนำไปสู่ความรุนแรง และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่หลายคนไม่คาดมาก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้น" นายธนวรรธน์ ระบุ