นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนม.ค. 64 (TCC-CI) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 24-28 ม.ค.65 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 37.2 ลดลงจากระดับ 37.8 ในเดือนธ.ค. 64
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 36.6 ลดลงจากเดือน ธ.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 37.3
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 38.2 ลดลงจากเดือนธ.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 38.7
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 40.9 ลดลงจากเดือน ธ.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 41.5
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 37.1 ลดลงจากเดือนธ.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 37.6
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 36.5 ลดลงจากเดือนธ.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 37.2
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 35.0 ลดลงจากเดือนธ.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 35.6
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน ม.ค.65 มีดังนี้
- ปัจจัยลบ ได้แก่
1. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. ความกังวลในการใช้มาตรการเข้มงวดของรัฐบาล หากมีการแพร่ระบาด
3. ราคาสินค้าในบางรายการ โดยเฉพาะวัตถุดิบมีระดับราคาที่สูง ส่งผลต่อค่าครองชีพ และกำลังซื้อสินค้าของประชาชน และรายได้ของธุรกิจ
4. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
5. เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
6. ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ประสิทธิภาพของวัคซีน และภาวะคอขวดของอุปทานภาคการผลิตที่อาจยืดเยื้อไปจนถึงปี 2565
7. การปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติ (Policy normalization) โดยการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ จะส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
- ปัจจัยบวก ได้แก่
1. การผ่อนคลายมาตรการในการทำธุรกิจ
2. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ 1.2% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่ 1.0% สำหรับในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 4%
3. มาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ได้แก่ มาตรการช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง เฟส 4 มาตรการขยายระยะเวลาการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เป็นต้น
4. การฉีดวัคซีนของทั้งโลก ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น
5. การส่งออกของไทยเดือน ธ.ค. 64 ขยายตัว 24.18%
6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และปศุสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ มีดังนี้
1. เพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุน SMEs
2. ผ่อนคลายมาตรการดำเนินธุรกิจกลางคืน และเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
3. ขอให้ภาครัฐดำเนินการเปิด Test & go เพื่อรับนักท่องเที่ยว
4. ต้องการให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
5. ยกเลิกแนวคิดการล็อกดาวน์ หรือการจำกัดพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง
6. มาตรการช่วยเหลือโดยการลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าเดินทาง รวมทั้งลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิง และสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน