นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ตอบกระทู้ถามสดในที่ประชุมสภาฯ ต่อประเด็นปัญหาราคาค่าน้ำมันแพง โดยระบุว่า รัฐบาลได้แก้ไขปัญหา ทั้งการใช้กองทุนน้ำมันเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ซึ่งปัจจุบันเงินกองทุนฯ ติดลบไปแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ได้เตรียมที่จะกู้เงินอีก 2-3 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินการต่อ โดยเบื้องต้นอยู่ในกระบวนการกู้เงิน และเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา
"วันนี้สิ่งที่ได้ทำไปแล้ว คือตรึงราคาน้ำมันมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตอนนี้กองทุนฯ ช่วยลิตรละ 3.79 บาท เงินไหลออก 7,000 ล้านบาท/เดือน และก่อนหน้านี้ ตรึงราคาก๊าซไว้ที่ 318 บาท/ถัง 15 กก. ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด เพื่อที่จะให้ช่วงวิกฤตจากการแพร่ระบาดผ่านพ้นไปได้ โดยที่ประชาชน พ่อค้า แม่ค้าใช้ก๊าซหุงต้มในราคาไม่สูง และเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก เพื่อให้เกิดการหมุ่นเวียนทางเศรษฐกิจต่อไปได้" รองนายกฯ และรมว.พลังงาน กล่าว
พร้อมยอมรับว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจมีความล่อแหลม และอาจนำไปสู่วิกฤตได้
นายสุพัฒนพงษ์ ยังได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีการระบุว่าน้ำมันดีเซลของไทยราคาแพงที่สุดว่า จากข้อมูลเมื่อเทียบกับ 8 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้น บูรไน และมาเลเซีย ที่มีแหล่งพลังงานของตนเองและสามารถส่งออกได้ไม่จำกัด จะพบว่า ราคาน้ำมันของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6-7 ส่วนประเทศที่แพงที่สุด คือ สิงคโปร์
สำหรับข้อเสนอแนะต่อการปรับลดส่วนผสมของน้ำมันชีวภาพในไบโอดีเซลนั้น ที่ผ่านมาได้ลดลงจาก B10 เหลือ B5 แต่ไม่สามารถทำได้แบบพรวดพราด เพราะจะกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ดี รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการใหม่ๆ เพื่อดูแลประชาชน
สำหรับการดูแลค่าไฟฟ้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สั่งการให้พิจารณาในระยะสั้น เพื่อลดการนำเข้า LNG ที่มีราคาแพง โดยใช้วิธีผลิตอื่น เช่น ขยายต่ออายุโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 ปี แม้กระทบสิ่งแวดล้อมแต่มีพื่นที่ไม่มาก, รับซื้อไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มมากขึ้น โดยให้ร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน