นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร นักวิชาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม เพื่อหารือทบทวนกรอบการเจรจาอาเซียน+1 ของไทย ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 52 ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 65 นี้ เพื่อให้ไทยสามารถเข้าร่วมการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (FTA) และจัดทำ FTA ใหม่ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ หลังจากปีที่ผ่านมา อาเซียนกับคู่เจรจา เช่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ได้เห็นพ้องว่าจะเริ่มเจรจาเพื่อยกระดับ FTA ของอาเซียน+1 ที่มีอยู่ ให้มีความทันสมัยและเปิดเสรีมากขึ้น และประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาคที่มีความสนใจจะทำ FTA กับอาเซียน โดยเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กรมฯ ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ 55 แห่ง หารือผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเตรียมการปรับปรุงกรอบการเจรจา FTA อาเซียน+1 เดิมของไทยแล้ว
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการเจรจาเพื่อจะยกระดับความตกลง FTA อาเซียน+1 คาดว่าจะมีการผนวกประเด็นใหม่ๆ ที่หลายประเทศให้ความสนใจ ซึ่งไทยจำเป็นต้องเตรียมกรอบการเจรจาในเรื่องเหล่านี้ เช่น การเจรจาเพื่อปรับปรุงความตกลง FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) จะมีประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน FTA สำหรับอาเซียน-จีน (ACFTA) จะมีประเด็นเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล นโยบายแข่งขันทางการค้า การคุ้มครองผู้บริโภค และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ทันสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนไป
"กรมฯ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จึงได้เตรียมแผนงานที่จะจัดรับฟังความเห็น เพื่อให้การปรับปรุงกรอบการเจรจา FTA อาเซียน+1 ของไทย รอบคอบและรัดกุมมากที่สุด เพื่อให้ทันรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป และเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ หากสามารถหาข้อสรุปการร่างกรอบการเจรจาฯ ได้แล้ว กรมฯ จะเสนอระดับนโยบายกระทรวง เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป" นางอรมน กล่าว
ปัจจุบันอาเซียนมี FTA ทั้งหมด 7 ฉบับ ได้แก่ อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อาเซียน-ฮ่องกง และอาร์เซ็ป (อาเซียน+5) ซึ่งความตกลงฯ ได้เริ่มมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 48 และอาเซียนได้ประกาศเริ่มเจรจา FTA กับแคนาดา เมื่อปลายปี 64