น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้รายงานให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ทราบถึงภาพรวมการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2565 โดยพบว่า ณ ไตรมาสที่ 1 (ต.ค.-ธ.ค.64) ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนมีการเบิกจ่าย ก่อหนี้ผูกพันสูงกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาด ยังส่งผลให้หลายหน่วยงานต้องปรับแผนการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทำให้บางส่วนมีการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในส่วนนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับ ให้แต่ละกระทรวง หรือหน่วยงานพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน กำหนดโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับปริบทใหม่ หรือ New Normal เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เพื่อให้เม็ดเงินงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงบประมาณ คือให้มีการเร่งรัดการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงบลงทุนรายการปีเดียว โดยให้ก่อหนี้ผูกพันให้เสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ (ม.ค.-มี.ค.65) และให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัด รัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย กำกับหน่วยรับงบประมาณ ดูแล เร่งรัด ติดตามและประเมินการปฏิบัติงานการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งสำนักงบประมาณนำผลการเบิกจ่ายที่เกิดขึ้นมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณางบประมาณปี 2566 ด้วย
สำหรับผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ ณ ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2565(ต.ค.-ธ.ค.64) มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปทั้งสิ้น 9.86 แสนล้านบาท คิดเป็น 31.83% ของงบประมาณรวม 3.1 ล้านล้านบาท มีการก่อหนี้ผูกพันแล้ว 1.13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 36.46% สูงกว่าเป้าหมายอยู่ 1.83% และ 2.38% ตามลำดับ
ทั้งนี้ แยกเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ 8.89 แสนล้านบาท คิดเป็น 35.70% จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำรวม 2.49 ล้านล้านบาท ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 8.98 แสนล้านบาท คิดเป็น 36.07% สูงกว่าเป้าหมาย 1.70% และ 0.74% ตามลำดับ
ในส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุน มีการเบิกจ่าย 9.70 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 15.95% ของวงเงินรายจ่ายลงทุนทั้งหมด 6.08 แสนล้านบาท ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 2.31 แสนล้านบาท คิดเป็น 38.04% สูงกว่าเป้าหมาย 2.95% และ 9.08% ตามลำดับ