กรมเจรจาฯเปิดแผนปี 65 เร่งปิดดีล FTA กับตุรกี-ปากีสถาน เดินหน้าตลาดอียู-เอฟตา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2022 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทย ในปี 2565 ว่า กรมฯ เตรียมเดินหน้าเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอย่างเต็มที่ ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้เร่งสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกของไทย และการใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย

นางอรมน กล่าวว่า การเจรจา FTA ที่ค้างอยู่กับตุรกี ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รอบที่ 8 ในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. นี้ โดยจะหารือเรื่องการเปิดตลาดสินค้าและจัดทำข้อบท FTA ที่ยังค้างอยู่ให้คืบหน้ามากที่สุด ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้สำเร็จภายในปีนี้ ส่วนการเจรจา FTA กับปากีสถาน การจัดทำรายละเอียดของความตกลงใกล้เสร็จแล้ว คงเหลือในส่วนของการเปิดตลาด ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างนัดหมายปากีสถาน เพื่อเร่งจัดประชุมหารือเรื่องที่ยังค้างให้คืบหน้าโดยเร็ว นอกจากนี้ การเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ได้ตกลงเปิดเจรจาไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างกำหนดแผนการเจรจา และคาดว่าจะนัดประชุมรอบแรกในเร็วๆ นี้

สำหรับการเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ 2 ฉบับ คือ FTA กับสหภาพยุโรป (อียู) และ FTA กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟตา) กรมฯ ได้หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อร่างกรอบการเจรจา ซึ่งดำเนินการใกล้เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างหารือกับคู่เจรจา เพื่อจัดทำเอกสารความคาดหวังจากการเจรจาร่วมกัน ซึ่งจะนำเอกสารดังกล่าวและร่างกรอบเจรจาเสนอคณะรัฐมนตรีขอความเห็นชอบเปิดการเจรจาต่อไป สำหรับการหารือกับอียู อยู่ในขั้นตอนการทำความเข้าใจความคาดหวังของกันและกัน ส่วนการหารือกับเอฟตามีคืบหน้าอย่างดี และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเปิดการเจรจาได้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 หรือต้นไตรมาส 2 ของปีนี้

"ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ กับคู่ค้า 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วน 63.5% ของการค้าไทยกับโลก โดยการจัดทำ FTA กับประเทศใหม่ๆ จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะได้แต้มต่อทางการค้าจากการที่ประเทศคู่ค้าลดเลิกกำแพงภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าต่างๆ" นางอรมนเสริม

ทั้งนี้ ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 39,872 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน 7.40% ของการค้าไทยกับโลก ส่วนการค้าระหว่างไทยกับเอฟต้า มีมูลค่า 7,506 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 1.39% ของการค้าไทยกับโลก สำหรับการค้าระหว่างไทยกับตุรกี มีมูลค่า 1,646 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.30% ของการค้าไทยกับโลก และการค้าระหว่างไทยกับปากีสถาน มีมูลค่า 1,817 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.34% ของการค้าไทยกับโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ