นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าผลไม้ไทย ตามนโยบายการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2565 โดยได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน ถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าผลไม้ของไทยเข้าสู่ตลาดอิตาลี เพื่อป้อนความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ผู้บริโภคชาวอิตาลีหันมาบริโภคผลไม้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากเดิมการบริโภคผลไม้ของชาวอิตาลี มักจะนิยมรับประทานในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญเท่านั้น เนื่องจากราคาสูงและหาซื้อได้ค่อนข้างยาก แต่ปัจจุบันที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ง่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ซึ่งมีให้เลือกหลากหลาย ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความคุ้นเคยในการรับประทานผลไม้จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผลไม้จากต่างประเทศที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต พบว่า ส่วนใหญ่นำเข้าจากอเมริกาใต้ แต่ทางทูตพาณิชย์รายงานว่า ผลไม้สดของไทยมีโอกาสในการขยายส่วนแบ่งในตลาดผลไม้สดในอิตาลี เห็นได้จากการที่ผู้นำเข้าอิตาเลียนสนใจนำเข้าผลไม้สดจากไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ มะม่วงสุก ทุเรียน และมะขาม โดยปัจจุบันอิตาลีมีการนำเข้าผลไม้สดจากไทย ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง มะขามหวาน แก้วมังกร มังคุด ขนุน และเงาะ เป็นต้น และส่วนใหญ่วางจำหน่ายในร้านค้าเอเชีย มีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 12?30 ยูโร/กิโลกรัม
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนม.ค.-ก.ย. 64 อิตาลีนำเข้าผลไม้สดจากไทยมีมูลค่า 543,905 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 73% ซึ่งทุเรียน มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดมูลค่า 306,029 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 305%
"จากความต้องการผลไม้นำเข้าที่เพิ่มขึ้น กรมฯ มั่นใจว่าตลาดอิตาลีจะเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญตลาดหนึ่งของไทย แต่เกษตรกรและผู้ส่งออกต้องควบคุมคุณภาพของสินค้าและปฏิบัติตามขั้นตอนการนำเข้าผลไม้สดมายังสหภาพยุโรป และควรให้ความสำคัญในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ หรือย่อยสลายได้ง่าย ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคในอิตาลี" นายภูสิต กล่าว
ด้าน น.ส.อนงค์นารถ มหาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมิลาน อิตาลี กล่าวว่า ผลไม้จากต่างประเทศ ที่ได้รับความนิยมในอิตาลีในปัจจุบัน ได้แก่ อาโวคาโด มะม่วง มะพร้าว มะละกอ สับปะรด และผลไม้อื่นๆ เป็นต้น โดยช่องทางจำหน่าย ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าเอเชีย ร้านค้า Discount และร้านค้าปลีกทั่วไป
ส่วนการซื้อผลไม้สด ผู้บริโภคนิยมซื้อผลไม้ที่บรรจุในภาชนะเรียบร้อยมากกว่าเลือกชั่ง เพราะมองว่ามีความปลอดภัย สะอาด ป้องกันการกระแทก ลดการเน่าเสีย และยังตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเลือกบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ