บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง และในปี 51 อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้อีก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาซับไพร์ม
นอกจากนี้ การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน(โอเปก)ที่อาจจะมีมติเปลี่ยนการอ้างอิงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจากดอลลาร์สหรัฐมาเป็นยูโร ซึ่งจะส่งผลให้อิทธิพลของปัจจัยทางการเงินและการลงทุนเพื่อเก็งกำไรทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และความผันผวนในตลาดทุนที่มีต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ต่อไป และหากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาน้ำมันในรูปแบบต่างๆ ที่ใช้ในภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นได้อีก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า หากสถานการณ์ต่างๆ ในปีหน้ายังมีลักษณะไม่แตกต่างจากปีนี้ คือ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่าลงประมาณ 4.3 จุด เมื่อเทียบกับเงินตราสกุลอื่นๆ และความผันผวนของตลาดหุ้นยังคงอยู่ที่ประมาณ 20 จุด จะส่งผลให้ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบในตลาด WTI สหรัฐอเมริกา และตลาด Brent อังกฤษในปี 51เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 13.4 % จากปี 2550 คือจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 82.25 ดอลลาร์/บาร์เรล เทียบกับปีนี้ที่มีราคาเฉลี่ยประมาณ 72.54 ดอลลาร์/บาร์เรล
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่กำหนดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้เปลี่ยนแปลงไป โดยในอดีตปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยที่กำหนดค่อนข้างชัดเจน จนถึงในช่วงเวลาปัจจุบันที่ปัจจัยทางการเงินและการลงทุนเป็นปัจจัยกำหนดอย่างเด่นชัดแทน และในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน พ.ย.50 ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลก ณ ราคาปี49 ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นด้วยกับนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของภาครัฐในช่วงปีที่ผ่านมา และคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไว้อย่างต่อเนื่องในด้านการจัดหาพลังงานเพิ่มเติม เพื่อให้พลังงานมีความเพียงพอและมั่นคงด้วยการส่งเสริมการสำรวจพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทั้งในประเทศและเขตพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตภายในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และการส่งเสริมการใช้พลังงานรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมันอย่างประหยัด
รวมถึงการสนับสนุนและรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนทั้งจาก ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซโซฮอล์ และไบโอดีเซล ซึ่งภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการสำรวจและขยายการผลิตรวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่จะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และระบบ Logistics การวิจัยพัฒนายานยนต์ประหยัดพลังงาน อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้มากขึ้น
นอกจากนั้นมาตรการด้านพลังงานสะอาดอันจะเป็นการช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย ซึ่งมาตรการต่างๆ ควรเร่งดำเนินการโดยด่วน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาคการผลิต และประชาชนผู้บริโภค อันจะทำให้ประเทศไทยสามารถฝ่าพ้นวิกฤตราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--