น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/64 และทั้งปี 64 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์แล้ว ซึ่งพบว่าเศรษฐกิจไทยปี 64 เติบโตได้ 1.6% ซึ่งสูงกว่าที่ สศช. ได้ประมาณการไว้เดิมที่ 1.2%
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีพอใจกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 64 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญกับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก โดยรัฐบาลได้พยายามทุกวิถีทางอย่างเต็มที่ในการดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งการเติบโตในหลายส่วนก็เป็นผลจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น การบริโภคของประชาชนที่ดีขึ้นจากที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยา แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย การบริโภค และการลงทุนของรัฐที่เติบโตจากการเร่งรัดการเบิกจ่าย ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจากการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวภายใต้มาตรการที่ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการดูแลประชาชน ทั้งด้านการป้องกันและรักษาจากโรคโควิด-19
สำหรับในปี 65 ที่สภาพัฒน์ได้ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายด้านแต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังนั้น นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าในปี 65 นี้รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19 ควบคู่ไปกับการดูแลการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด โดยรัฐบาลจะรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมาได้แล้วตั้งแต่ปลายปี 64 ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในครัวเรือน ที่จะมีการดูแลกลไกต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้า และค่าครองชีพของประชาชน แก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนให้ต่อเนื่อง ฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว เร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐ ทั้งส่วนของรายจ่ายประจำและการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย
ขณะที่การลงทุนเอกชนจะดำเนินนโยบายสนับสนุนทั้งการฟื้นตัวและลงทุนของนักลงทุนไทย และการดึงดูดลงทุนของต่างชาติ ตลอดจนการขับเคลื่อนการส่งออก ที่ปีนี้จะยังคงได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายกระทรวงการคลัง และ สศช. เฝ้าติดตามประเด็นความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่างๆ เช่น กรณีที่เกิดไวรัสกลายพันธุ์ นโยบายเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารประเทศต่างๆ ที่เริ่มปรับตัวตามแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วโลก ตลอดจนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดในบางพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลมีนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป