ภาคธุรกิจ หนุนองค์กรปฎิรูปการทำงานก้าวสู่ Digital Transformation

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 23, 2022 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวในงานสัมมนา ภายใต้หัวข้อ "กลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรปี 2565 ฝ่าวิกฤต สู่โอกาสใหม่ที่ยั่งยืน" ว่า ในปี 65 เศรษฐกิจเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนหลังผ่านช่วงสถานการณ์โควิด 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ไทยในปีนี้จึงต้องเร่งใช้โอกาสจาก Growth driver ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ New Normal นำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่มาปฎิรูปการทำงานในทุกอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นไปตามกระแส Net Zero Emission, Digital transformation และการเติบโตอย่างยั่งยืนใน ESG (Environmental, Social, Governance) ด้วย

ปัจจุบัน เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น (Disruption) ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่วงการมากขึ้น โดยเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (FinTech) เข้ามีบทบาทที่เด่นชัดขึ้นในโลกการเงินไทย ซึ่งจากรายงานในปี 64 ไทยมี FinTech Firms จำนวน 268 บริษัท ซึ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอดีต จากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านออนไลน์ และพรอมเพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเงินอาจนำไปสู่ความเสี่ยงรูปแบบใหม่ในโลกการเงินอนาคต เช่น การโจรกรรมทางไซเบอร์ ปัญหาด้านเสถียรภาพของระบบ ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ที่อาจมาจากการขาดความรู้ในการใช้บริการ และปัญหาด้านช่องว่างของกฎเกณฑ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ภูมิทัศน์ทางการเงินของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนโฉมหน้า โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้มีการส่งเสริมการเงินด้านเทคโนโลยี และการเปิดกว้างด้านการแข่งขันที่มากขึ้น ด้วยยุทธศาสตร์ทั้งหมด 4 ธีม ได้แก่

1. ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Enabling country competitiveness) ซึ่งไทยควรเร่งพัฒนา Big data การเริ่มต้นธุรกิจ และการรับมือกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์ เพื่อสร้างความพร้อมและความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาชิก ได้ร่วมมือเพื่อพัฒนาหลายด้านตั้งแต่ระดับนโยบาย จัดทำภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย เช่น ลดการใช้เงินสด นอกจากนี้ยังมีโครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure ส่งเสริมการยืนยันตัวตนด้วนระบบดิจิทัลในวงกว้าง และ D-statement ส่งเสริม Open Banking เพิ่มความสะดวกแก่บริการทางการเงิน ซึ่งคาดว่าในครึ่งปี 65 จะเริ่มใช้บริการในธนาคาร 11 แห่ง

2. วางแผนการดำเนินงานเชื่อมโยงระบบโครงสร้างด้านการเงินระหว่างภูมิภาค (Regional Championing) โดยอาเซียนถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพเติบโต เช่น CLMV ที่มีจำนวนประชากรรวมกันไม่ต่ำก่า 170 ล้านคน ส่วน GDP ปี 64 รวมกันกว่า 4.8 แสนล้านสหรัฐฯ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาด GDP ปี 65-69 โตปีละ 4-7% ซึ่งสูงกว่าประเทศไทยที่อยู่ประมาณ 4% ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยจึงมีแผนการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลระหว่างกันในภูมิภาค โดยเฉพาะด้าน Payment และ Remittance นอกจากนี้ ยังสนับสนุนระบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ต่อยอดสู่การชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะเริ่มทดสอบ CBDC ภายในปี 65 ในภาคประชาชน

3. สนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อม และการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) มีส่วนร่วมในการผลักดันให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ BCG Model ยึดหลัก Sustainable Banking ซึ่งธนาคารได้เข้าไปมีส่วนในการช่วยเหลือธุรกิจให้ไปสู่ BCG Model ได้ นอกจากนี้ ธนาคารยังร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งแตะ 90% ส่วนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้ย 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา โดยธนาคารจะเชื่อมโยงข้อมูลเครดิตอย่างครบครัน โดยเฉพาะข้อมูลจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ในขณะเดียวกัน ต้องลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสิรม Finance โดยเฉพาะ SMEs มากกว่า 60% ไม่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ (SFI)

4. การให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human capital) ความท้าทายของตลาดแรงงานไทย เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ปัญหา Skill gap ด้านเทคโนโลยี เกิดช่องว่างของบุคลากรเกือบ 60,000 คน ในภาคการเงิน เพื่อเร่งเตรียมบุคลากร จึงเดินหน้า Up skill-Re skill บุคลากรให้มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคตมากขึ้น เช่น ด้าน Data analytics ก้าวทัน Digital banking เป็นต้น

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า สำหรับการเติบโตของ GDP ของโลก จะโตขึ้น 3 เท่าในช่วง 30 ปี ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจาก Digital Transformation เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชน อย่างไรก็ดี ทั่วโลกมองว่า ในปี 65 เศรษฐกิจโลกต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3/66

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่โลกต้องเผชิญนั้น หากมองอีกด้านหนึ่งก็สามารถสะท้อนถึงโอกาสเช่นกัน โดยความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น 1. การสร้างการเติบโตแบบลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Capital) 2. การนำเทคโลยีมาใช้ในธุรกิจ (Digital Transformation) และ 3. ความยั่งยืน และสภาพอากาศ (Sustainability/Climate Change) เช่น ทั่วโลกตั้งเป้าคาร์บอนเป็นศูนย์ (NET ZERO) ในการประชุม COP26

นอกเหนือจากความท้าทายทั้ง 3 เรื่อง ยังมีความท้าทายอื่นๆ เช่น 1. โควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรงอยู่ อย่างไรก็ดี คาดหวังว่าภายในปี 65 โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ 2. Geopolitic Russia and NATO ในกรณีที่เกิดสงคราม ไทยและอาเซียนถือว่าอยู่ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยผลกระทบจะเกิดขึ้นมากระหว่างประเทศรัสเซีย และยุโรป และ 3. Inflation เป็นปัจจัยให้ต้นทุนวัตถุดิบหลายอย่างสูงขึ้น ซึ่งประเทศสหรัฐฯ ที่มีอิทธิพลส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วโลก ล่าสุดได้ประกาศเงินเฟ้อที่ 7.5% ซึ่งอาจจะมีมาตรการการขึ้นดอกเบี้ย พร้อมยุติมาตรการ QE ที่อาจส่งผลกระทบต่อทั่วโลกได้ ขณะที่ประเทศไทยปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.2%

"ความมั่นคงในแต่ละยุคสมัยนั้นไม่เหมือนกัน ในอดีต คือ ทอง ปัจจุบัน คือ พลังงาน และในอนาคต คือ เทคโนโลยีและคน หรือ SMEs ยุคใหม่ ซึ่งคนเก่ง คือทรัพยากรที่หายากที่สุดในอนาคต ทักษะหายากเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด" นายศุภชัย กล่าว

ดังนั้น ประเทศไทยควรเร่งปรับตัวใน 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ปฎิรูปการเกษตรและส่งเสริม SMEs ทั้งการบริหารน้ำ, สร้างวิสาหกิจชุมชน, Inclusiveness, Smart Farming และ SME รุ่นใหม่ ขยายสินค้าออกไปยังภูมิภาค 2. ศูนย์กลางโลจิสติกส์/การค้าแห่งเอเชีย/Tech Hub/Urbanization ทั้งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC), SEC 4.0, ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด, Smart City และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และ 3. เร่งดึงดูดคนเก่ง ทั้งการส่งเสริม Start up ต่อยอดเป็น Tech Hub, ขับเคลื่อนข้อมูลและการวิจัย คนใหม่ ธุรกิจใหม่ และการ Re skill-Up skill

"ทั้งหมดเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เราไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของโลกได้ แต่ถ้าเราเปลี่ยนกรอบความคิดเดิมเพื่อรองรับโอกาส และความท้าทาย เราสามารถกำหนดอนาคตตนเองได้ ทั้งนี้ 5 หลักในการปฎิรูป ที่สามารถใช้กับทุกองค์กร ได้แก่ ความโปร่งใสข้อมูล, กลไกตลาด, ความเป็นผู้นำ, การให้อำนาจ และนวัตกรรมและเทคโนโลยี" นายศุภชัย กล่าว

ด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวถึงกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรฝ่าวิกฤตสู่โอกาสใหม่ที่ยั่งยืนว่า ด้วยขณะนี้มีปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ได้แก่ วิกฤตโควิด-19, ปัญหาโลกร้อนที่ประเทศพัฒนาแล้วจะหยิกยกมากีดกันทางการค้า, ปัญหาแรงงาน เป็นต้น

บริษัทฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนิน ได้แก่ นำระบบออโตเมชั่นมาใช้ ขณะที่มีการศึกษา คิดค้น และวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น พลังงานจากพืชสำหรับเครื่องบินโดยสาร, แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ และทำให้ประเทศยังคงเป็นฮับอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ