น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จังหวัดศรีสะเกษ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความพร้อมในการจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 "ศรีสะเกษเกมส์" ระหว่างวันที่ 5 - 25 มี.ค. 2565 และการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 37 "นครลำดวนเกมส์" ระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 3 เม.ย. 2565
การจัดแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งนี้ จะเป็นตัวอย่างของการจัดมหกรรมกีฬาภายในประเทศ โดยมีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ที่เข้มงวด แบ่งรูปแบบจัดการแข่งขันออกเป็น 3 ช่วงตามกลุ่มชนิดกีฬา เพื่อลดความแออัด จึงทำให้มีระยะเวลาในการจัดการแข่งขันที่ยาวกว่าปกติ โดยช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 5 - 11 มี.ค. ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 12 - 18 มี.ค. และช่วงที่ 3 ระหว่างวันที่ 19 - 25 มี.ค. มีมาตรการเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ที่รัดกุม โดยคณะกีฬาต้องผ่านการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 2 เข็มขึ้นไป มีผลการตรวจ ATK ก่อนเดินทางเข้าจังหวัด และตรวจ ATK ก่อนการแข่งขัน พร้อมกันนี้ ยังจะมีการตรวจโควิคให้ทุกๆ 3 วันตลอดการแข่งขันด้วย
ส่วนการอำนวยความสะดวกแก่คณะนักกีฬา ได้มีการเตรียมความพร้อมแล้ว ทั้งในส่วนของสถานที่พักของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ โดยจัดสถานที่พักตามชนิดกีฬาและใกล้สนามแข่งขันมากที่สุด จัดวางระบบรับ-ส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ จากที่พักถึงสนามแข่งขันทุกวัน ส่วนการรักษาความปลอดภัย ได้วางมาตรการไว้อย่างดี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ฯลฯ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ เป็น 1 ใน 6 จังหวัดแรกของประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองกีฬา หรือ sports city โดยเน้นกีฬาเพื่อสุขภาพ เพื่อความเป็นเลิศ และกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว โดยในการจัดแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งนี้ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงชาวจังหวัดศรีสะเกษ เตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยือน ให้เกิดความประทับใจและอยากลับมาเที่ยวใหม่ ขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดเตรียม 4 เส้นทางนำเที่ยว ในช่วงการแข่งขันฯ
"ที่สำคัญ การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ และ กีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งนี้ จังหวัดศรีสะเกษจะนำแนวทางด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG มาขับเคลื่อน ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างน้อย 5 เป้าหมาย คือ การผลิตและบริโภค, การรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, การอนุรักษ์ความหลากหลาย, การลดความเลื่อมล้ำ และ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" น.ส.ไตรศุลี กล่าว