น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะลูกขุนภายใต้องค์กรระงับข้อพิพาท องค์การการค้าโลก(WTO) ได้ประกาศคำตัดสินอย่างเป็นทางการที่ไทยฟ้องร้องสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนในสินค้ากุ้ง โดยมีคำตัดสินให้สหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากที่เรียกเก็บทั้งภาษีอากรการทุ่มตลาด(เอดี) และพันธบัตรค้ำประกัน(ซีบอนด์)100% ของอากรเอดี รวมทั้งให้สหรัฐฯ คิดส่วนเหลื่อมการเก็บอากรเอดีใหม่
"สหรัฐฯไม่ยอมรับคำตัดสินกรณีซีบอนด์ และกำลังจะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะลูกขุน โดยอ้างว่าการเรียกเก็บซีบอนด์ในอัตราสูง เพราะกลัวว่าผู้ส่งออกกุ้งจากจีนและเวียดนามจะไม่ยอมจ่ายอากรเอดี จึงต้องเก็บเงินส่วนหนึ่งมาค้ำประกัน ซึ่งข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะเรียกเก็บซีบอนด์กับทุกประเทศที่ถูกเรียกเก็บอากรเอดี รวมถึงไทย ทั้งๆ ที่ผู้ส่งออกไทยไม่เคยเบี้ยวจ่ายอากรเอดีเลย" น.ส.ชุติมา กล่าว
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า หากคณะลูกขุนรับคำอุทธรณ์ของสหรัฐฯ จะต้องใช้เวลาพิจารณาใหม่ประมาณ 6-8 เดือน แต่ระหว่างนี้สหรัฐฯ ยังคงเก็บซีบอนด์ต่อไป
ส่วนการคิดส่วนเหลื่อมอากรเอดีนั้นหากสหรัฐฯ ยอมคำนวณใหม่อย่างเป็นธรรมกับไทย จะทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียอากรเอดีในอัตราต่ำลง และส่งผลต่อเนื่องให้ต้องวางซีบอนด์ในอัตราที่ลดลงเช่นกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ส่งออกไทยมาก เพราะจะทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นและช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
ทั้งนี้ไทยได้ยื่นฟ้องสหรัฐฯ ต่อ WTO ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.49 และ WTO ได้ตั้งคณะลูกขุนพิจารณากรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 ม.ค.50 โดยมีหลายประเทศร่วมให้การต่อคณะลูกขุน เช่น บราซิล, ชิลี, จีน, เอกวาดอร์, สหภาพยุโรป(EU), อินเดีย, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก และเวียดนาม
ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออกกุ้งไทยได้วางซีบอนด์ไปแล้ว 3 รอบตั้งแต่ปี 48 เป็นต้นมารวมเป็นเงินประมาณ 180 ล้านเหรียญสหรัฐ และจนถึงขณะนี้สหรัฐฯ ยังไม่ได้คืนเงินค้ำประกันให้ผู้ส่งออกไทย ทำให้ผู้ส่งออกขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจโดยเฉพาะรายเล็ก ส่วนรายใหญ่ก็มีปัญหาบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในเดือน ม.ค.51 ผู้ส่งออกไทยจะต้องวางซีบอนด์รอบใหม่อีก คาดว่าทั้ง 4 รอบ รวมเป็นเงินถึง 240 ล้านเหรียญสหรัฐ
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--