นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค.65 อยู่ที่ระดับ 104.42 ขยายตัว 1.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 65.91% เพิ่มขึ้นจาก 65.24% ในเดือน ธ.ค.64
ปัจจัยสำคัญ ได้แก่
- สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในสถานประกอบการในภาพรวม ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือน ม.ค.65 ขยายตัว 1.04%
- การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียมยังคงขยายตัว
- ผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบนำเข้า
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือน ม.ค.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
- น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.21% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันเตาชนิดที่ 2 เป็นหลัก โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหลังประชาชนได้รับวัคซีนในอัตราสูง ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และการเดินทางที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการน้ำมันขนส่งเพิ่มสูงขึ้นตาม
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.76% เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการนำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ในอุปกรณ์ IOT ในวงกว้างมากขึ้น
- ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.10% จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง และเครื่องยนต์ดีเซล จากสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการส่งเสริมการขายของตัวแทนจำหน่าย
- ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.35% จากผลิตภัณฑ์ยางแท่งเป็นหลัก โดยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะลูกค้าหลักจากจีน อเมริกา และญี่ปุ่น ที่มีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และคิวเรือส่งสินค้าคลี่คลายมากขึ้น
- เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.74% เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวทำให้การจำหน่ายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 32.91% ขณะที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.91%
โดยปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลต่อการผลิตในระยะต่อไปเดือน ก.พ.-เม.ย. ได้แก่
- ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ทั้งการผลิต คำสั่งซื้อ และความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น กมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐและการเปิดประเทศ
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิคริอนไม่รุนแรง อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว
- ต้นทุนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น ทั้งในเรื่องราคาพลังงาน การขนส่ง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์เริ่มคลี่คลาย
- เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตได้แม้หลายประเทศจะเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาด แต่ต้องติดตามสถานการณ์ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค.65 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นับตั้งแต่เดือน ก.ย.64
"เศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ตลาดภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐและนโยบายเปิดประเทศ รวมถึงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตได้แม้หลายประเทศจะเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาดแต่ยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในรัสเซียและยูเครน ซึ่งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด" นายสุริยะ กล่าว