นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเย็นนี้อยู่ที่ 32.65 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเปิดตลาดเมื่อ เช้านี้ที่ระดับ 32.72 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามภูมิภาคและตลาดโลกจากปัจจัยเรื่องสถานการณ์ยูเครน ซึ่งตลาดยังไม่เชื่อว่าจะ สามารถเจรจากันได้สำเร็จ
"บาทผันผวนตลอดวัน ระหว่างวันบาทอ่อนค่าสุดในภูมิภาคไปแตะ 32.78 บาท/ดอลลาร์ ปัจจัยยังเป็นเรื่องยูเครน" นัก
บริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 32.55 - 32.75 บาท/ดอลลาร์
ล่าสุด THAI BATH SPOT RATE FIXING อยู่ที่ระดับ 32.6927 บาท/ดอลลาร์
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 115.54 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 115.49 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1174 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.1189 ดอลลาร์/ยูโร
- นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกหน่วยงานพร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องประชุมในวันนี้เพื่อเป็นการติดตาม
สถานการณ์และพัฒนาการในยูเครน ซึ่งทวีความตึงเครียดขึ้นด้วยความห่วงกังวลอย่างยิ่ง ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบไม่มากก็
น้อยต่อทุกประเทศ เนื่องจากทุกประเทศมีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับไทย ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัด คือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และราคาหุ้นและคริ
ปโทฯ ที่ลดลง และเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอนหากสถานการณ์ยืดเยื้อ
- ธปท.ชี้ผลกระทบเบื้องต้นต่อประเทศไทยจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สิ่งแรก คือ เกิดความผันผวน
ในตลาดการเงิน ซึ่งแม้ไทยจะมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศค่อนข้างดี แต่ในระยะสั้นก็ได้รับผลกระทบทำให้เงินบาทผันผวน ส่วนที่สอง คือ
ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และส่วนที่สาม ระบบการชำระเงินของไทย ที่คาดว่าจะไม่มีปัญหา แต่ก็ต้องติดตามทิศทางระบบการชำระเงิน
ของโลกว่าจะได้รับผลกระทบจากกรณีที่ชาติตะวันตกจะตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบ SWIFT (Society for Worldwide
Interbank Financial Telecommunication) มากน้อยเพียงใด
- รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์และทุกส่วนราชการของกระทรวงฯ ติดตามสถานการณ์ยูเครนร่วมกับภาค
เอกชนอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เกิดประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยในภาพรวมยังไม่กระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ และวันที่ 2 มี.
ค.65 ตนมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ประชุมร่วมกับภาคเอกชนอีกครั้ง เพื่อประเมินสถานการณ์ และจะเร่งแก้ปัญหาหน้างานร่วมกันให้
เกิดผลดีที่สุด
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ผลกระทบกับภาคการส่งออกของประเทศไทยจากสถานการณ์กองทัพรัสเซียเข้า
โจมตียูเครน ขึ้นอยู่กับการขยายวงความรุนแรง และมาตรการตอบโต้โดยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Economic Sanctions) จาก
นานาประเทศ สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยในขณะนี้ คือ ราคาน้ำมัน ยิ่งสถานการณ์มีความตึงเครียด ยิ่งส่งผลต่อต้นทุนพลังงาน ต้นทุน
ธุรกิจ ราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นด้านที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนของไทยมีความผันผวนสูงขึ้น
ทำให้นักลงทุนอาจย้ายไปสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง
- ธปท.ระบุเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.65 ชะลอลงบ้าง โดยการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนปรับลดลงจากความกังวล
ต่อการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลงจากการระงับการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่าน
ระบบ Test&Go ชั่วคราว ขณะที่การส่งออกสินค้าปรับลดลงบ้าง หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่าย
ประจำของรัฐบาลกลางด้านการซื้อสินค้าและบริการ
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค.65 อยู่ที่ระดับ
104.42 ขยายตัว 1.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
- สภาพัฒน์ เผยสถานการณ์แรงงานไตรมาส 4/64 เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 โดยอัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้น
และอัตราการว่างงานต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 2/63 สำหรับภาพรวมปี 64 การจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงกว่าปี
ก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน
- ธนาคารกลางรัสเซียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 10.5% สู่ระดับ 20% จากระดับ 9.5% ในวันนี้ เพื่อรับมือกับการ
ทรุดตัวของค่าเงินรูเบิลและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น พร้อมทั้งสั่งให้บริษัทเอกชนของรัสเซียขายสกุลเงินต่างประเทศที่ถือครองอยู่ในอัตราส่วน
80% ของรายได้ที่ได้จากการซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศ
- รัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เตรียมจัดการประชุมในวันนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดการเงิน หลัง
ผลกระทบทางการเงินจากการบุกโจมตียูเครนของรัสเซียขยายตัวขึ้น และนับเป็นการประชุมกันครั้งแรกในรอบ 1 ปี
- นักลงทุนต่างต้องการถือครองเงินดอลลาร์และเงินเยนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยอย่างมากในวันนี้ หลังจากชาติตะวันตกจะ
ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่ม รวมถึงการปิดกั้นไม่ให้ธนาคารรัสเซียบางแห่งใช้ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--